ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบแล้ว ฯลฯ

อุจฺฉินฺนภวตณฺหสฺส     สนฺตจิตฺตสฺส ภิกฺขุโน
วิกฺขีโณ ชาติสํสาโร     นตฺถิ ตสฺส ปุนพฺภโว.

[คำอ่าน]

อุด-ฉิน-นะ-พะ-วะ-ตัน-หัด-สะ..…สัน-ตะ-จิด-ตัด-สะ, พิก-ขุ-โน
วิก-ขี-โน, ชา-ติ-สัง-สา-โร…..นัด-ถิ, ตัด-สะ, ปุ-นับ-พะ-โว

[คำแปล]

“ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบแล้ว สิ้นความเวียนเกิดแล้ว ย่อมไม่มีภพอีก.”

(พุทฺธ) ขุ.อุ. 25/143.

ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในสถานะต่าง ๆ ที่ตนต้องการ หมายถึงความอยากมีอยากเป็น อยากได้สิ่งต่าง ๆ ที่ตนปรารถนา รวมไปถึงความปรารถนาที่จะไปเกิดในภพต่าง ๆ ที่ประณีตที่ตนปรารถนา ซึ่งตนเองคิดว่าจะเป็นภพที่มีความสุขความเพลิดเพลิน โดยคิดว่าภพเหล่านั้นเป็นสถานที่หรือสภาวะที่เที่ยงแท้แน่นอนไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง

ความทะยานอยากเหล่านี้เกิดจากความเห็นที่ผิด คือผิดจากสภาวะความเป็นจริง ไม่เข้าใจสภาวะความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ทำให้อยากมี อยากเป็น อยากได้ในสิ่งต่าง ๆ ทะยานอยากในภพ อยากเกิดในภพที่ตนเองคิดว่าดีเลิศ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่จบสิ้น ทำให้ต้องได้รับความทุกข์ในวัฏสงสารไม่รู้จบ

ภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร พยายามปฏิบัติสมณธรรมตามคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนสำเร็จ มีจิตสงบจากกิเลสอาสวะทั้งปวง ทำลายตัณหาทั้ง 3 ได้แล้ว ย่อมเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข สิ้นภพสิ้นชาติ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่ต้องประสบกับทุกข์ใหญ่ในวัฏสงสารอีกต่อไป

ดังนั้น พุทธศาสาสนิกชนทั้งหลายผู้ปรารถนาความดับทุกข์ พึงหมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อทำลายกิเลสตัณหาทั้งปวงให้สิ้นไป และเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นที่ดับไปแห่งทุกข์ทั้งปวงเถิด.