สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม “ความกำหนัดเพราะดำริ เป็นกามของคน”

สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม.

[คำอ่าน : สัง-กับ-ปะ-รา-โค, ปุ-ริ-สัด-สะ, กา-โม]

“ความกำหนัดเพราะดำริ เป็นกามของคน”

(สํ.ส. 15/32, องฺ.ฉกฺก. 22/460)

ราคะ คือ ความกำหนัดรักใคร่ในกามคุณทั้ง 5 ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่น่าใคร่น่าพอใจ เป็นความปรารถนา ความต้องการที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมาครอบครองหรือมาบำเรอตนเอง

ราคะ เกิดขึ้นเพราะมีความดำริคือความคิดเป็นมูลราก เช่น เมื่อได้เห็นรูป เราคิดไปว่ารูปนี้สวยงาม น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ก็เกิดเป็นราคะขึ้นมา ได้รับสัมผัสแล้วคิดไปว่า สัมผัสนี้ช่างน่าปรารถนาเหลือเกิน ก็เกิดเป็นราคะขึ้นมาได้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า ราคะ เกิดมาจากความคิดที่เราปรุงแต่งไปในทางที่ชอบใจ เช่น เห็นรูปที่สวย ๆ แล้วคิดชอบใจ อยากได้มาครอบครอง อยากมองนาน ๆ ได้ยินเสียงที่ไพเราะเสนาะหูแล้วชอบใจ อยากฟังบ่อย ๆ เป็นต้น

หากเราไม่คิดไปในทางที่พอใจชอบใจ เมื่อเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับสัมผัส แล้วพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงว่า รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส นั้น เป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดน่าปรารถนาหรือน่าพอใจ ก็จะทำให้คลายความกำหนัดเสียได้