สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต

สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต.

[คำอ่าน : สุ-โข, วิ-เว-โก, ตุด-ถัด-สะ, สุ-ตะ-ทำ-มัด-สะ, ปัด-สะ-โต]

“ความสงัดของผู้สันโดษ มีธรรมปรากฏเห็นอยู่ นำสุขมาให้”

(วิ.มหา. 4/6, ขุ.อุ. 25/86)

คำว่า “ความสงัดของผู้สันโดษ มีธรรมเห็นปรากฏอยู่” หมายเอาความวิเวก คือภาวะที่จิตสงบสงัดจากกิเลส ซึ่งหมายถึงความสงัดของพระอริยเจ้าผู้บรรลุธรรมแล้ว ได้แก่ วิเวก 3 อย่าง คือ

  1. กายวิเวก ความสงัดกาย
  2. จิตวิเวก ความสงัดจิต
  3. อุปธิวิเวก ความสงัดจากอุปธิคือกิเลส

เมื่อบุคคลมีกายสงบ คือกายนี้สงบจากบาปแล้ว ไม่กระทำบาปแล้ว ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นแล้ว ความสุขย่อมเกิดขึ้นมา

เมื่อบุคคลมีใจสงบ คือจิตใจไม่ถูกกิเลสตัณหาทั้งหลายครอบงำ ไม่ถูกกิเลสตัณหาบงการ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาแล้ว ความสุขก็ย่อมเกิดขึ้นมา

เมื่อบุคคลสงบสงัดแล้วจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นอันว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้นั้นอีกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสุขก็ย่อมเกิดขึ้นมา