
ลุทฺโธ อตฺถํ น ชานาติ………ลุทฺโธ ธมฺมํ น ปสฺสติ
อนฺธตมํ ตทา โหติ………………..ยํ โลโภ สหเต นรํ.
[คำอ่าน]
ลุด-โท, อัด-ถัง, นะ, ชา-นา-ติ…..ลุด-โท, ทำ-มัง, นะ, ปัด-สะ-ติ
อัน-ทะ-ตะ-มัง, ตะ-ทา, โห-ติ…….ยัง, โล-โพ, สะ-หะ-เต, นะ-รัง
[คำแปล]
“ผู้โลภ ย่อมไม่รู้อรรถ ผู้โลภ ย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภ เข้าครอบงำคนใด เมื่อใด ความมืดมิดย่อมมีเมื่อนั้น”
(พุทฺธ) ขุ.อิติ. 25/295, ขุ.มหา. 29/17.
ความโลภ ได้แก่ โลภะ แปลตามศัพท์ว่า ความอยากได้ คือ อยากได้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นที่ต้องการ อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ที่ตนปรารถนา
ถ้ามองในมุมของผู้ครองเรือน โลภะ หรือ ความอยากได้ นั้น เป็นเพียงคำกลาง ๆ ยังไม่ดีหรือชั่ว เมื่ออยากได้แล้ว ถ้าแสวงหามาในทางที่ถูกต้องชอบธรรม คือหาสิ่งที่ตนต้องการนั้นมาได้ด้วยความสุจริต ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ถ้าอยากได้แล้วแสวงหามาในทางที่ไม่ถูกต้อง ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย เช่น ขโมยมา ปล้นมา โกงเขามา เป็นต้น ย่อมเป็นเรื่องที่ผิด
แต่ถ้ามองในแง่ของการปฏิบัติธรรมแล้ว โลภะ คือ ความโลภ จัดเป็นอกุศลมูลข้อที่ 1 เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลเกิดความขวนขวายเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ จิตจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนอยากได้ เมื่อแสวงหามาได้แล้วก็ดีใจ เมื่อไม่ได้มาก็ทุกข์ใจ กระวนกระวาย
หลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมเพื่อขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นอกุศลมูลคือมูลรากแห่งอกุศลกรรมทั้งหลาย หากเกิดความโลภขึ้นมาเสียแล้ว ความโลภนี้ย่อมปิดบังปัญญา ทำให้ปัญญามืดบอดไปในขณะที่ความโลภครอบงำจิตใจ ทำให้ไม่รู้อรรถไม่รู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่สามารถพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมใด ๆ ให้กระจ่างได้ จิตจะจดจ่ออยู่กับการคิดหาวิธีที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการจนลืมเรื่องอื่นไปหมดสิ้น
เมื่อความโลภเกิดขึ้น แสวงสว่างแห่งปัญญาย่อมถูกบดบัง เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ที่ถูกเมฆบดบัง ต่อเมื่อเมฆค่อย ๆ เลื่อนออก แสวงสว่างแห่งดวงอาทิตย์จึงจะค่อย ๆ สว่างขึ้นตามลำดับ ฉันใด เมื่อความโลภเบาบางลง แสวงสว่างแห่งปัญญาก็จะเริ่มชัดเจนขึ้น ฉันนั้น
ดังนั้น ความโลภ จึงเป็นสิ่งที่ควรกำจัดให้หมดไปจากจิตใจ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นครอบงำจิตใจ เมื่อความโลภไม่มีหรือถูกกำจัดไปได้แล้ว บุคคลย่อมมีปัญญาสามารถรู้อรรถรู้ธรรมได้.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา