ใจสั่งมา

ท่านทั้งหลายจงตัดป่า (กิเลส) อย่าตัดต้นไม้ ภัยย่อมเกิดจากป่า ฯลฯ

วนํ ฉินฺทถ มา รุกฺขํ     วนโต ชายตี ภยํ
เฉตฺวา วนญฺจ วนถญฺจ     นิพฺพนา โหถ ภิกฺขโว.

[คำอ่าน]

วะ-นัง, ฉิน-ทะ-ถะ, มา, รุก-ขัง…..วะ-นะ-โต, ชา-ยะ-ตี, พะ-ยัง
เฉด-ตะ-วา, วะ-นัน-จะ, วะ-นะ-ถัน-จะ…..นิบ-พะ-นา, โห-ถะ, พิก-ขะ-โว

[คำแปล]

“ท่านทั้งหลายจงตัดป่า (กิเลส) อย่าตัดต้นไม้ ภัยย่อมเกิดจากป่า ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านจงตัดป่า และสิ่งที่ตั้งอยู่ในป่า แล้วเป็นผู้ไม่มีป่าเถิด.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/52.

สุภาษิตบทนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ตัดไม้ทำลายป่าแต่อย่างใด แต่เป็นการเปรียบเทียบกิเลสเป็นเสมือนป่าเท่านั้น

คำว่า ป่า หมายถึง ป่าคือกิเลส ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่ป่าไม้ตามธรรมชาติ

คำว่า สิ่งที่ตั้งอยู่ในป่า หมายถึง กิเลสตัวอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยมีกิเลสใหญ่ทั้ง 3 ตัวคือ ราคะ โทสะ โมหะ นั้นเป็นมูล

ส่วนคำว่า อย่าตัดต้นไม้ นั้นมีความหมายตรงตัว ไม่ต้องตีความ คือ อย่าไปตัดต้นไม้ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้ตัดต้นไม้

จากที่กล่าวมาด้านบนนั้น จึงสามารถอธิบายความหมายแห่งสุภาษิตบทนี้ได้ดังนี้

กิเลสตัวใหญ่ ๆ ที่คร่าสรรพสัตว์ไว้ในสังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิดนี้เปรียบเสมือนป่า ในป่าย่อมมีสัตว์ร้ายทั้งหลาย เช่น เสือ สิงโต งูพิษ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งไข้ป่าทั้งหลาย ซึ่งถือว่าเป็นภัยใหญ่สำหรับบุคคลผู้หลงเข้าไปในป่า จึงกล่าวได้ว่า ภัยเหล่านั้นเกิดจากป่า ส่วนกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นสาเหตุที่ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น จึงถือว่าภัยคือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นภัยใหญ่ในวัฏสงสาร เกิดจากกิเลส ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงเปรียบเทียบกิเลสกับป่า

นอกจากกิเลสใหญ่ทั้ง 3 ตัวแล้ว กิเลสเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นทีหลัง หรือที่มีมูลเหตุมาจากกิเลสใหญ่เหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ต้องกำจัดเสียให้หมด เพราะกิเลสเหล่านั้นถึงจะมีไม่มาก ก็ยังเป็นสาเหตุให้สรรพสัตว์ข้องอยู่ในวัฏสงสาร ไม่สามารถหลุดพ้นไปได้

ดังนั้น พระดำรัสว่า “พวกท่านจงตัดป่าและสิ่งที่ตั้งอยู่ในป่า แล้วเป็นผู้ไม่มีป่าเถิด” จึงหมายความว่า จงตัดกิเลสน้อยใหญ่ทั้งปวงเสียให้หมด จงพยายามทำให้ตนเองเป็นผู้ปราศจากกิเลสทั้งปวง.