ภิกษุไม่ควรติดในกามทั้งหลาย ควรมีใจไม่ขุ่นมัว ฯลฯ

กาเมสุ นาภิคิชฺเฌยฺย     มนสานาวิโล สิยา
กุสโล สพฺพธมฺมานํ     สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช.

[คำอ่าน]

กา-เม-สุ, นา-พิ-คิด-ไช-ยะ…..มะ-นะ-สา-นา-วิ-โล, สิ-ยา
กุ-สะ-โล, สับ-พะ-ทำ-มา-นัง…..สะ-โต, พิก-ขุ, ปะ-ริบ-พะ-เช

[คำแปล]

“ภิกษุไม่ควรติดในกามทั้งหลาย ควรมีใจไม่ขุ่นมัว ควรเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง ควรมีสติอยู่ทุกอิริยาบถ.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/531, ขุ.จู. 30/26.

กามทั้งหลายทั้งที่เป็นส่วนกิเลสกาม ทั้งที่เป็นส่วนวัตถุกาม เป็นสภาพที่ทำให้จิตใจของคนทั้งหลายขุ่นมัว ลุ่มหลงเพลิดเพลินในสิ่งลวงโลกทั้งหลายที่ชาวโลกสมมติกันว่าเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวโลกทั้งหลายกระทำกรรมต่าง ๆ นานาเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาครอบครอง

ภิกษุ คือผู้ที่อุปสมบทในพระธรรมวินัยแห่งพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่าเป็นผู้สละทางโลกเพื่อประพฤติพรหมจรรย์กระทำที่สุดแห่งทุกข์ มีภารกิจหลักคือการชำระจิตใจของตนให้ใสสะอาดปราศจากกิเลสทั้งปวง กระทำใจของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่องสมกับความเป็นเนื้อนาบุญของโลก

ดังนั้น ภิกษุจึงไม่ควรติดข้องอยู่ในกามทั้งหลาย ทั้งกิเลสกามและวัตถุกาม หมั่นศึกษาเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อกำจัดกิเลสอันเป็นเหตุทำจิตใจให้ขุ่นมัว กำจัดอวิชชาอันเป็นเหตุแห่งความเขลาและลุ่มหลงมัวเมา เข้าสู่ความเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง และมีสติอยู่ในทุกอิริยาบถ เพื่อไม่ให้เผลอไปกระทำกรรมอันเป็นความผิดพลาดทั้งในทางโลกและทางธรรม เมื่อภิกษุทำได้ดังนี้ ย่อมจะสามารถปฏิบัติขัดเกลาจิตใจของตนให้สะอาดผ่องใส สามารถเข้าถึงธรรมเบื้องสูงและกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในที่สุด.

You may also like...