
อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ………อตฺถาวโห ว ขนฺติโก
สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ….อารุฬฺโห โหติ ขนฺติโก.
[คำอ่าน]
อัด-ตะ-โน-ปิ, ปะ-เร-สัน-จะ………อัด-ถา-วะ-โห, วะ, ขัน-ติ-โก
สัก-คะ-โมก-ขะ-คะ-มัง, มัก-คัง….อา-รุน-โห, โห-ติ, ขัน-ติ-โก
[คำแปล]
“ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ ทั้งแก่ตน ทั้งแก่ผู้อื่น ผู้มีขันติ ชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน.”
ส.ม. 222.
ขันติ คือ ความอดทน หรือ ความอดกลั้น หมายถึง ความมีใจหนักแน่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ปัญหา หรือความยากลำบากต่าง ๆ ที่เข้ามาขัดขวางทางแห่งความสำเร็จ ลักษณะของขันติ มี 4 อย่าง คือ
อดทนต่อความลำบากตรากตรำ คือ ไม่ว่าจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหนในการทำงานหรือสร้างคุณงามความดีใด ๆ ก็ตาม เช่น ในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพ ในการสร้างบุญสร้างกุศล เป็นต้น ถึงจะมีความเหน็ดเหนื่อย เราก็อดทน ก็ไม่ย่อท้อ
อดทนต่อทุกขเวทนา คือ อดทนต่อความเจ็บปวด ความรู้สึกทางกายและทางใจทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อความไม่สบายกายไม่สบายใจ เช่น ความเจ็บปวด บาดแผล โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
อดทนต่อความเจ็บใจ คือ ความอดทนต่ออารมณ์ทางใจที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญทำให้ร้อนรุ่มกระวนกระวาย อันเกิดจากบุคคลหรืออารมณ์ภายนอกมากระตุ้นให้เกิดขึ้น
อดทนต่ออำนาจกิเลส คือ ความอดทนต่อกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นครอบงำจิตใจในแต่ละขณะและคอยบงการให้เราทำกรรมต่าง ๆ ตามอำนาจของมัน
ผู้ที่ประกอบด้วยขันติทั้ง 4 ลักษณะนี้ ย่อมสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น การอดทนต่ออำนาจกิเลส ช่วยให้เราควบคุมจิตใจของตนเองได้ ไม่เผลอไปกระทำกรรมชั่วตามอำนาจของกิเลสที่สั่งการให้กระทำกรรมอันเป็นบาปอกุศลต่าง ๆ นานา การงดเว้นจากการกระทำบาปเสียได้ก็จัดเป็นปาปวิรัติ เป็นบุญกุศลแก่ตนเอง อันนี้คือประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง นอกจากนั้น เมื่อเรามีความอดทนอดกลั้น ไม่กระทำบาปตามอำนาจของกิเลส คนรอบข้างก็ไม่ได้รับผลกระทบด้านลบ มีแต่จะได้รับผลด้านบวก คือ ได้รับความสบายใจเมื่ออยู่ใกล้ ไม่ต้องหวาดระแวง และได้ตัวอย่างที่ดีในการดำรงชีวิต เป็นต้น อันนี้คือประโยชน์ที่เกิดกับผู้อื่น
จากลักษณะของขันติทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานั้น ความอดทนต่ออำนาจกิเลสถือว่ามีอานิสงส์มาก เพราะทำให้เราสามารถเว้นจากการทำบาปได้ จึงสามารถเป็นทางไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้ในเบื้องต้น นอกจากนั้น ผู้ที่มีความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน บากบั่น ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับอำนาจของกิเลส ย่อมสามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ในที่สุด ไม่ช้าก็เร็ว.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา