
เกวลานํปิ ปาปานํ…..ขนฺติ มูลํ นิกนฺตติ
ครหกลหาทีนํ…….….มูลํ ขนติ ขนฺติโก.
[คำอ่าน]
เก-วะ-ลา-นัง-ปิ, ปา-ปา-นัง………ขัน-ติ, มู-ลัง, นิ-กัน-ตะ-ติ
คะ-ระ-หะ-กะ-ละ-หา-ที-นัง……..มู-ลัง, ขะ-นะ-ติ, ขัน-ติ-โก
[คำแปล]
“ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความติเตียน และการทะเลาะกันเป็นต้นได้.”
ส.ม. 222.
ขันติ คือ ความอดทน หรือ ความอดกลั้น มี 4 ลักษณะ คือ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อความเจ็บใจ และอดทนต่ออำนาจกิเลส
ด้วยลักษณะของขันติทั้ง 4 อย่างข้างต้นนั้น ย่อมสามารถสนับสนุนเนื้อความแห่งสุภาษิตนี้ได้อย่างชัดเจน ดังนี้
ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น ผู้ที่มีขันติ สามารถอดทนอดกลั้นต่ออำนาจกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ ย่อมไม่กระทำอกุศลกรรมอันมีโลภะเป็นมูล เช่น การลักขโมย ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ เป็นต้น ไม่กระทำกรรมใด ๆ อันจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนาในทางทุจริต ย่อมไม่กระทำอกุศลกรรมอันมีโทสะเป็นมูล เช่น การด่า การทำร้ายร่างกาย การฆ่า เป็นต้น ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจของความโกรธ และไม่กระทำอกุศลกรรมอันมีโมหะเป็นมูล คือการกระทำบาปต่าง ๆ นานา อันเป็นไปด้วยความไม่รู้บาปบุญคุณโทษและความลุ่มหลงงมงาย เมื่อบุคคลมีความอดทนต่ออำนาจกิเลสเช่นนี้ ไม่กระทำบาปกรรมตามอำนาจของกิเลสเช่นนี้ จึงชื่อว่าสามารถตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้นได้ด้วยอำนาจแห่งขันติด้วยอาการอย่างนี้
เมื่อบุคคลมีความอดทนต่ออำนาจของกิเลส ไม่กระทำบาปทั้งหลายดังกล่าวแล้ว ตนเองย่อมไม่สามารถติเตียนตนเองได้ คนอื่นก็ไม่สามารถติเตียนบุคคลนั้นได้เช่นกัน จึงชื่อว่าขุดรากแห่งความติเตียนได้ ด้วยอาการอย่างนี้
อนึ่ง เมื่อบุคคลมีความอดทนต่ออำนาจความเจ็บใจ ไม่ปล่อยให้ความเจ็บใจเข้าครอบงำจิตใจของตนเอง เช่น เมื่อถูกผู้อื่นด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง ถึงจะมีความเจ็บใจมากแค่ไหนก็อดทนอดกลั้นไว้ ไม่แสดงออกมา ไม่ปล่อยให้ความเจ็บใจนั้นบงการให้โต้ตอบหรือแสดงกิริยาอาการที่ไม่ดีออกมา การทะเลาะวิวาทก็ไม่เกิดขึ้น บุคคลนั้นย่อมสามารถเว้นการทะเลาะได้ด้วยอำนาจของขันติ ด้วยอาการอย่างนี้.
ขันติคือความอดทน เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต เพราะเมื่อขาดขันติคือความอดทนเสียแล้ว การดำรงชีวิตก็เป็นไปได้ยาก การประกอบกิจการงานต่าง ๆ ก็เป็นไปได้ยาก การบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ยิ่งเป็นไปไม่ได้เสียเลย
ในทางกลับกัน ผู้มีขันติ ย่อมสร้างประโยชน์ได้เป็นอันมาก ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ทั้งประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา