ใจสั่งมา

ผู้มีขันติ นับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ ผู้มีขันติ เป็นที่รัก ฯลฯ

ขนฺติโก เมตฺตวา ลาภี     ยสสฺสี สุขสีลวา
ปิโย เทวมนุสฺสานํ     มนาโป โหติ ขนฺติโก.

[คำอ่าน]

ขัน-ติ-โก, เมด-ตะ-วา, ลา-พี…..ยะ-สัด-สี, สุ-ขะ-สี-ละ-วา
ปิ-โย, เท-วะ-มะ-นุด-สา-นัง…..มะ-นา-โป, โห-ติ, ขัน-ติ-โก

[คำแปล]

“ผู้มีขันติ นับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ ผู้มีขันติ เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.”

ส.ม. 222.

ขันติ คือ ความอดทน หรือ ความอดกลั้น มี 4 ลักษณะ คือ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อความเจ็บใจ และอดทนต่ออำนาจกิเลส

บุคคลผู้มีความอดทนต่อความเจ็บใจ นับว่าเป็นผู้มีความเมตตา เพราะเมตตาธรรมนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจ็บใจ ผู้ใดปราศจากเมตตาเสียแล้ว ย่อมไม่สามารถทัดทานพลังแห่งความเจ็บใจได้ ต้องเป็นผู้มีเมตตาธรรมสูงเท่านั้น จึงจะสามารถอดทนอดกลั้นต่อความเจ็บใจที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่น่าพอใจทั้งหลาย เช่น การถูกด่า การถูกดูถูกเหยียดหยาม เป็นต้นได้

บุคคลผู้มีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ ขยันทำงาน หนักเอาเบาสู้ ไม่เกี่ยงงาน ไม่ทอดทิ้งภาระธุระทั้งหลายเพียงเพราะความลำบาก ย่อมสามารถรักษากิจการงานต่าง ๆ เอาไว้ได้ ทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้ และงานนั่นเองจะเป็นบ่อเกิดแห่งลาภทั้งหลายอันจะพึงได้พึงถึง นอกจากนั้น บุคคลผู้มีคุณสมบัติคืออดทนต่อความลำบากตรากตรำดังกล่าว ย่อมเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป เป็นผู้ที่สมควรได้รับยศและเกียรติ เช่น ทหาร ตำรวจ ที่มีความขยันและอดทนต่อความลำบากตรากตรำได้ดีกว่าคนอื่น ย่อมเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้รับการเลื่อนยศเร็วกว่าคนอื่น เป็นต้น

บุคคลผู้มีความอดทนต่ออำนาจกิเลส ย่อมไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ความทุกข์ใจทั้งหลายอันเกิดจากอำนาจกิเลสย่อมไม่สามารถกล้ำกรายบุคคลนั้นได้ เหตุนั้น เขาย่อมเป็นผู้ประสบสุขในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ด้วยอำนาจแห่งความอดทนนั้น

บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความอดทนทั้ง 4 ลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเขาเป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมอันกระทำบำเพ็ญได้ยากยิ่ง.