ใจสั่งมา

ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา และผู้มีขันติ ฯลฯ

สตฺถุโน วจโนวาทํ     กโรติเยว ขนฺติโก
ปรมาย จ ปูชาย     ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก

[คำอ่าน]

สัด-ถุ-โน, วะ-จะ-โน-วา-ทัง…..กะ-โร-ติ-เย-วะ, ขัน-ติ-โก
ปะ-ระ-มา-ยะ, จะ, ปู-ชา-ยะ…..ชิ-นัง, ปู-เช-ติ, ขัน-ติ-โก

[คำแปล]

“ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้า ด้วยบูชาอย่างยิ่ง.”

ส.ม. 222.

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนให้เหล่าสาวกทั้งหลายบำเพ็ญขันติธรรม คือ ความอดทน หรือ ความอดกลั้น ให้มีใจหนักแน่นในการทำหน้าที่และสร้างคุณงามความดี ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ปัญหา หรือความยากลำบากต่าง ๆ ที่เข้ามาขัดขวางทางแห่งความสำเร็จหรือการบำเพ็ญบารมีเพื่อความพ้นทุกข์ ความอดทนดังกล่าวนั้นมี 4 ลักษณะ คือ

อดทนต่อความลำบากตรากตรำ คือ ไม่ว่าจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหนในการทำงานหรือสร้างคุณงามความดีใด ๆ ก็ตาม เช่น ในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพ ในการสร้างบุญสร้างกุศล ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น ถึงจะมีความเหน็ดเหนื่อย เราก็อดทน ไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นทำต่อไปจนสำเร็จ

อดทนต่อทุกขเวทนา คือ อดทนต่อความเจ็บปวด ความรู้สึกทางกายและทางใจทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อความไม่สบายกายไม่สบายใจ เช่น ความเจ็บปวด บาดแผล โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น ไม่ปล่อยให้ทุกขเวทนาเหล่านั้นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติธรรมของเราได้

อดทนต่อความเจ็บใจ คือ ความอดทนต่ออารมณ์ทางใจที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญทำให้ร้อนรุ่มกระวนกระวาย อันเกิดจากบุคคลหรืออารมณ์ภายนอกมากระตุ้นให้เกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้ความเจ็บใจนั้นทำร้ายจิตใจของเราได้ หรือไม่ปล่อยให้ความเจ็บใจนั้นชักจูงให้เราทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย

อดทนต่ออำนาจกิเลส คือ ความอดทนต่อกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นครอบงำจิตใจในแต่ละขณะและคอยบงการให้เราทำกรรมต่าง ๆ ตามอำนาจของมัน ไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ ไม่กระทำกรรมชั่วช้าทั้งหลายตามอำนาจของมัน

ผู้ที่ประกอบด้วยขันติทั้ง 4 ลักษณะนี้ ได้ชื่อว่ากระทำตามโอวาทของพระพุทธเจ้า และผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมได้ชื่อว่าบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เพราะการปฏิบัติตามคำสอนจัดเป็นปฏิบัติบูชา ซึ่งเป็นการบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นการบูชาที่ประเสริฐที่สุด.