ใจสั่งมา

ขันติ เป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ กุศลธรรมทั้งปวง ฯลฯ

สีลสมาธิคุณานํ     ขนฺติ ปธานการณํ
สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา     ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต.

[คำอ่าน]

สี-ละ-สะ-มา-ทิ-คุ-นา-นัง…..ขัน-ติ, ปะ-ทา-นะ-กา-ระ-นัง
สับ-เพ-ปิ, กุ-สะ-ลา, ทำ-มา…..ขัน-ตะ-ยา-เย-วะ, วัด-ทัน-ติ, เต

[คำแปล]

“ขันติ เป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ กุศลธรรมทั้งปวง ย่อมเจริญเพราะขันติเท่านั้น.”

ส.ม. 222.

ขันติ เป็นคุณธรรมสำคัญที่เป็นเหตุให้เกิดผลคือกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง เพราะถ้าขาดขันติไปเสียอย่างเดียว ก็เป็นการยากที่จะทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นได้ เช่น การรักษาศีล การเจริญสมาธิ เป็นต้น

การรักษาศีลให้สมบูรณ์ ต้องอาศัยขันติเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะการที่จะข่มใจไม่ให้กระทำการอันเป็นการละเมิดศีลนั้น ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก ทั้งความอดทนต่อความเจ็บใจ ความอดทนต่ออำนาจกิเลส ต้องใช้ทั้งหมด เพราะอารมณ์ที่จะมายั่วยุให้เรากระทำผิดศีลนั้นมันมากเหลือเกิน และอารมณ์เหล่านั้นก็เกิดจากกิเลสเป็นตัวการสำคัญ เช่น เมื่อเกิดโทสะ เกิดความโกรธขึ้นมา เจ้าโทสะนี้จะทำให้เราอยากจะทำลายทำร้ายผู้ที่ทำให้เราโกรธ ถ้าไม่มีความอดทนต่ออำนาจของโทสะนี้ ไม่สามารถข่มใจไว้ได้ ก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะไปทำร้ายเขาจนถึงแก่ชีวิต ทำให้ผิดศีลข้อแรก เป็นต้น ดังนั้น ขันติจึงเป็นคุณธรรมสำคัญที่จะช่วยให้เรารักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้

การเจริญกรรมฐานเพื่อให้เกิดสมาธิ ก็ต้องอาศัยขันติเป็นเครื่องสนับสนุนด้วยเช่นกัน เพราะในการเจริญกรรมฐานหรือการเจริญสมาธินั้น อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกคนจะต้องเจอก็คือทุกขเวทนา และทุกขเวทนานี้จะทำให้เราหงุดหงิดรำคาญ อยากเลิก ผู้ใดไม่มีขันติ ไม่สามารถอดทนต่อทุกขเวทนาได้ ย่อมจะล้มเลิกไปเสีย การเจริญสมาธิก็ไม่สำเร็จผล เป็นต้น

นอกจากนี้ การบำเพ็ญกุศลธรรมอื่น ๆ ทั้งปวง ย่อมประสบกับปัญหาเล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วแต่กรณี ผู้ที่มีความอดทนย่อมสามารถผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ และสร้างกุศลธรรมสำเร็จได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีขันติคือความอดทน ย่อมล้มเลิกเสียกลางคัน หรือบางคนไม่มีโอกาสได้เริ่มด้วยซ้ำไป เช่นนี้ การสร้างกุศลธรรมย่อมไม่สำเร็จ

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ขันติคือความอดทน เป็นสาเหตุหรือเป็นเครื่องสนับสนุนคุณธรรมและกุศลธรรมทั้งปวง.