ใจสั่งมา

ขันติ เป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ ขันติ เป็นตบะของผู้พากเพียร ฯลฯ

ขนฺติ ธีรสฺส ลงฺกาโร     ขนฺติ ตโป ตปสฺสิโน
ขนฺติ พลํ ว ยตีนํ     ขนฺติ หิตสุขาวหา.

[คำอ่าน]

ขัน-ติ, ที-รัด-สะ, ลัง-กา-โร…..ขัน-ติ, ตะ-โป, ตะ-ปัด-สิ-โน
ขัน-ติ, พะ-ลัง, วะ, ยะ-ตี-นัง…..ขัน-ติ, หิ-ตะ-สุ-ขา-วะ-หา

[คำแปล]

“ขันติ เป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ ขันติ เป็นตบะของผู้พากเพียร ขันติ เป็นกำลังของนักพรต ขันติ นำประโยชน์สุขมาให้.”

ส.ม. 222.

ขันติ แปลว่า ความอดทน เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่จัดอยู่ในหมวดธรรมอันทำให้งดงาม อันประกอบด้วย ขันติ ความอดทน และ โสรัจจะ ความเสงี่ยม

บุคคลผู้ประกอบด้วยขันติ เมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น ถูกด่าถูกว่า เป็นต้น แม้มีความเจ็บใจที่ถูกด่าถูกว่าเช่นนั้น ย่อมสามารถข่มความเจ็บใจนั้นไว้ อดทนอดกลั้นต่อความเจ็บใจนั้นได้ ไม่แสดงอาการออกมาทางสีหน้าท่าทาง รักษาอาการอันเป็นปกติเอาไว้ได้ เช่นนี้ เขาย่อมเป็นผู้มีความงดงาม ไม่แสดงสีหน้าบึ้งตึง ไม่ทำหน้าตาเหมือนยักษ์เหมือนมาร เป็นต้น เป็นคนที่น่ารัก น่าคบหา ผู้อยู่ใกล้ได้รับความสบายใจ ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ เพราะความที่ขันติทำให้บุคคลมีความงดงามทางกิริยาท่าทางดังกล่าวมาแล้ว

บุคคลผู้มีความพากเพียรในการบำเพ็ญธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ย่อมประสบกับปัญหาอุปสรรคนานาประการ ผ่านไปได้ยากยิ่ง เช่น เวลาปฏิบัติธรรม เกิดทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เป็นต้น หากไม่มีความอดทน ถอดใจเสียกลางคัน การบำเพ็ญธรรมนั้นย่อมไม่สามารถสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายได้ แต่หากมีความอดทนอดกลั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความอดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น พากเพียรพยายามบำเพ็ญธรรมนั้นต่อไป ย่อมสามารถบรรลุผลของการบำเพ็ญธรรมได้ในที่สุด

บุคคลผู้ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ถือเอาการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเป็นข้อวัตรปฏิบัติประจำ จำต้องอาศัยขันติเป็นกำลัง มีความอดทนต่อความลำบาก อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อความเจ็บใจ และอดทนต่ออำนาจของกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นครอบงำจิตใจ สู้ทนปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ย่อมสามารถลุผลที่มุ่งหวังคือพระนิพพานได้ในที่สุด

บุคคลผู้ประกอบด้วยขันติคือความอดทนนั้น ย่อมประสบกับความสุขทั้งทางกายและทางใจ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้นอย่างแน่นอน.