
น สุทฺธิ เสจเนน อตฺถิ…..นปิ เกวลี พฺราหฺมโณ
น เจว ขนฺติ โสรจฺจํ……..…นปิ โส ปรินิพฺพุโต.
[คำอ่าน]
นะ, สุด-ทิ, เส-จะ-เน-นะ, อัด-ถิ…..นะ-ปิ, เก-วะ-ลี, พราม-มะ-โน
นะ, เจ-วะ, ขัน-ติ, โส-รัด-จัง……………นะ-ปิ, โส, ปะ-ริ-นิบ-พุ-โต
[คำแปล]
“ความบริสุทธิ์ก็ดี ผู้ที่จะประเสริฐล้วนก็ดี ขันติและโสรัจจะก็ดี จะเป็นผู้เย็นสนิทก็ดี ย่อมไม่มี เพราะการชำระล้าง (ด้วยน้ำ).”
(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.ปกิณฺณก. 27/376.
ความบริสุทธิ์หมดจด สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการเจริญศีล สมาธิ และปัญญา ความอดทน สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการปรารภให้ตนพ้นจากสภาพที่เลวและเข้าถึงสภาพที่ดีกว่า ความสงบเสงี่ยม สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความเป็นผู้คงที่ ไม่หวั่นไหวต่อวิสภาคารมณ์ ความเป็นผู้เย็นสนิทคือการเข้าถึงพระนิพพาน จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอรหัตตผลซึ่งเป็นผลอันจะพึงประสงค์ได้ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
คุณธรรมทั้งหลายทั้งปวงตามที่กล่าวมานั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการชำระล้าง ไม่ว่าจะเป็นการชำระล้างด้วยน้ำ การสวดอ้อนวอน หรือด้วยพิธีกรรมใด ๆ ก็ตาม นั่นไม่ใช่วิธีทำให้เกิดคุณธรรมตามหลักพุทธศาสนา
แต่คุณธรรมทั้งหลาย จะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ การหมั่นเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเป็นต้น คำสอนในพุทธศาสนานั้นสอนว่า ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นั้นเป็นของเฉพาะตน คือใครทำคนนั้นก็ได้ และที่สำคัญคือต้องทำให้ถูกวิธี
ปัจจุบันคนทั้งหลายหวังพึ่งสิ่งภายนอกมากกว่าพึ่งตนเอง หวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายดลบันดาลความสำเร็จให้มากกว่าที่จะพยายามขวนขวายด้วยตนเอง ชอบเที่ยวขอพรตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ตนเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์แล้วอธิษฐานให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จนลืมไปว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นการกระทำที่สวนทางกับคำสอนในพุทธศาสนาที่สอนให้พึ่งตนเองในการสร้างคุณงามความดีและทำกิจทั้งหลาย
ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงสร้างบารมีให้ถูกทาง ศึกษาหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาให้รู้ลึกรู้จริงและนำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงจะเป็นประโยชน์กับชีวิต และสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนาได้.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา