ผู้สงบ เว้นบาป ฉลาดพูด ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมขจัดบาปธรรมเสียได้ ฯลฯ

อุปสนฺโต อุปรโต     มนฺตภาณี อนุทฺธโต
ธุนาติ ปาปเก ธมฺเม     ทุมปตฺตํว มาลุโต.

[คำอ่าน]

อุ-ปะ-สัน-โต, อุ-ปะ-ระ-โต…..มัน-ตะ-พา-นี, อะ-นุด-ทะ-โต
ทุ-นา-ติ, ปา-ปะ-เก, ทำ-เม…..ทุ-มะ-ปัด-ตัง-วะ, มา-ลุ-โต

[คำแปล]

“ผู้สงบ เว้นบาป ฉลาดพูด ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมขจัดบาปธรรมเสียได้ เหมือนลมกำจัดใบไม้ฉะนั้น.”

(มหาโกฏฐิตเถร) ขุ.เถร. 26/260.

ผู้สงบ หมายถึง บุคคลผู้ฝึกจิตใจของตนเองให้สงบระงับจากกิเลสตัณหาและอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง ด้วยการเจริญกรรมฐาน ทั้งส่วนที่เป็นสมถกรรมฐานและส่วนที่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ตามความถนัดของตน ๆ

เว้นบาป หมายถึง การละเว้นจากการทำบาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวง อย่างต่ำคือเว้นด้วยการสมาทาน หรือที่เรียกว่า สมาทานวิรัติ อย่างเช่นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายสมาทานศีลห้าเพื่อยึดถือปฏิบัติงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นต้น

ฉลาดพูด หมายถึง พูดด้วยปัญญา พูดอย่างชาญฉลาด ไม่พูดด้วยอำนาจของกิเลส โดยความก็ได้แก่การประพฤติวจีสุจริตทั้ง 4 ประการนั่นเอง

ไม่ฟุ้งซ่าน หมายถึง การฝึกจิตของตนเองให้มีความสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวโอนเอนไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้กระทำบาปตามอารมณ์นั้น ๆ ได้

บุคคลผู้มีคุณสมบัติทั้ง 4 ประการดังกล่าวแล้ว ย่อมสามารถกำจัดบาปธรรมทั้งหลายออกจากจิตจากใจเสียได้ เป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่า เป็นบุคคลผู้มีคุณภาพตามหลักพุทธศาสนา และย่อมสามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในที่สุด.

You may also like...