ทฬิทฺทิยํ ทุกฺขํ โลเก “ความจน เป็นทุกข์ในโลก”

ทฬิทฺทิยํ ทุกฺขํ โลเก.

[คำอ่าน : ทะ-ลิด-ทิ-ยัง, ทุก-ขัง, โล-เก]

“ความจน เป็นทุกข์ในโลก”

(องฺ.ฉกฺก. 22/394)

คำว่า “จน” หมายถึง ไม่มี หรือ มีน้อย มีไม่พอ เช่น มีเงินไม่พอใช้ มีข้าวไม่พอกิน มีเสื้อผ้าอาภรณ์ไม่พอใส่ มีรายได้ไม่พอเพียงต่อรายจ่าย เป็นตน อันนี้เรียกว่า จน

ธรรมดาชีวิตมนุษย์เรา ต้องการสิ่งต่าง ๆ มาบำบัดความหิวความกระหาย บำบัดความต้องการของตนเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าหาได้ไม่พอ ถ้ามีไม่พอ ก็ย่อมจะเป็นทุกข์ คนที่ไม่มีเงินทอง ไม่มีทรัพย์สินไว้จับจ่ายใช้สอยในแต่ละวัน หรือมีไม่พอนั้น ย่อมจะเป็นทุกข์อย่างมาก อันนี้เป็นลักษณะของความจนในทางคดีโลก

ส่วนในทางคดีธรรมนั้น ผู้จนธรรมย่อมเป็นทุกข์ คำว่า จนธรรม ก็คือ ไม่มีธรรมะ ขาดธรรมะไว้คอยประคับประคองจิต คนประเภทนี้จะเป็นทุกข์ยิ่งกว่าคนที่จนทรัพย์สินเงินทองเสียอีก

เพราะเมื่อไม่มีธรรมะแล้ว ย่อมไม่รู้จักวิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง เมื่อต้องประสบกับปัญหาใด ๆ ในการใช้ชีวิต ย่อมจะได้รับความทุกข์ยิ่งกว่าบุคคลอื่น ๆ