ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่น ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ฯลฯ

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ     โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน     นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ

[คำอ่าน]

อัด-ตา, หิ, อัด-ตะ-โน, นา-โถ………โก, หิ, นา-โถ, ปะ-โร, สิ-ยา
อัด-ตะ-นา, หิ, สุ-ทัน-เต-นะ………นา-ถัง, ละ-พะ-ติ, ทุน-ละ-พัง

[คำแปล]

“ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่น ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ก็บุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้ยาก.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/26.

“ที่พึ่ง” มี 3 ประเภท คือ

1. ที่พึ่งทั่วไป ได้แก่ บุคคลหรือสิ่งของทั้งหลายบนโลกใบนี้ที่เราพอจะพึ่งพาอาศัยได้ เช่น พ่อ แม่ บุตรธิดา เพื่อน เรือนชานบ้านช่อง ทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ไม่แน่นอน พึ่งได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

2. ที่พึ่งคือบุญกุศล ได้แก่ บุญที่เกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ซึ่งสามารถเป็นที่พึ่งให้เราได้ทั้งในภพนี้และภพหน้า แต่ก็ต้องหมั่นสร้างอยู่ตลอด ไม่เช่นนั้นแล้ว ที่พึ่งคือบุญกุศลนี้ก็สามารถหมดสิ้นไปได้เช่นเดียวกัน

3. ที่พึ่งคือพระนิพพาน เป็นที่พึ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะพาเราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งคำว่า “ที่พึ่งที่ได้ยาก” ก็หมายเอาที่พึ่งคือพระนิพพานนี่เอง

คำว่า “ตน” คือตัวเรานี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กาย กับ ใจ ประกอบกันเข้าจึงกลายเป็นตัวเราที่สามารถทำ พูด และคิด สิ่งต่าง ๆ ได้

ในกายกับใจสองส่วนนี้ ใจ ถือว่าเป็นใหญ่ เพราะใจเป็นส่วนที่รู้สึกนึกคิด แล้วคอยสั่งกายให้ทำสิ่งต่าง ๆ ส่วนกายนั้นมีหน้าที่ทำทุกอย่างตามที่ใจสั่งการมาอีกที

กายจะทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้น ย่อมขึ้นอยู่ที่ว่าใจจะสั่งให้ทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ถ้าใจสั่งทำสิ่งที่ดี กายก็ทำสิ่งที่ดี แต่ถ้าใจสั่งให้ทำสิ่งที่ไม่ดี กายก็ทำสิ่งที่ไม่ดี

ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงจำเป็นต้องฝึกตัวเราเองให้ดี ซึ่งคำว่า “ฝึกตัวเรา” นี้ ก็หมายถึง การฝึกจิต ได้แก่ การฝึกให้จิตของเรานั้นตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของความชั่วทั้งหลาย

เราควรฝึกจิตของเรา 3 ด้าน ตามแนวทางแห่งบุญกิริยาวัตถุ 3 คือ

1. ฝึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในทาน ได้แก่ การฝึกจิตให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว มีน้ำใจ ยินดีในการสละให้ปันสิ่งของ ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก มีใจฝักใฝ่ในการบำเพ็ญทานบารมี หมั่นถวายทานแด่พระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก

บุญที่เกิดจากการบำเพ็ญทานบารมีนี้แหละ จะเป็นที่พึ่งลำดับแรกของเรา

การฝึกนี้ก็คือการบำเพ็ญทานมัยบุญกิริยาวัตถุนั่นเอง

2. ฝึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ได้แก่ การรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อย ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ฆราวาสอย่างเราท่านทั้งหลายนี้ อย่างน้อยก็ควรรักษาศีล 5 ข้อให้สมบูรณ์

ศีลเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ยังคงความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้ เพราะศีลนั้นท่านจัดว่าเป็นมนุสสธรรม คือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ หรือธรรมที่เป็นดัชนีชี้วัดความเป็นมนุษย์ ถ้าศีลขาด 1 ข้อ ความเป็นมนุษย์ก็ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าศีลขาด 2 ข้อ ความเป็นมนุษย์ก็ลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ ถ้าศีลขาดทั้งห้าข้อ ก็ได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์เฉพาะร่างกายเท่านั้น แต่จิตใจไม่เหลือความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว ดังนั้น ศีลห้า จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับความเป็นมนุษย์

บุญที่เกิดจากการรักษาศีลครบถ้วนสมบูรณ์ จะเป็นที่พึ่งของเราอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พึ่งที่อยู่ในระดับสูงกว่าทาน และแน่นอนว่า ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะรักษาศีลแทนเราได้ เรื่องศีลนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว เรารักษาเอง เราจึงจะได้เอง

การฝึกนี้ก็คือการบำเพ็ญสีลมัยบุญกิริยาวัตถุนั่นเอง

3. ฝึกจิตให้ตั้งมั่นในภาวนา หมายถึง การฝึกตนเองให้เป็นผู้มีใจฝักใฝ่ในการเจริญภาวนา ซึ่งหมายถึงการเจริญกรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

การเจริญภาวนานี้ถือเป็นบุญสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นบุญเพียงชนิดเดียวที่จะทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้อย่างถาวร และบุญที่เกิดจากการเจริญภาวนานี่แหละ เป็นที่พึ่งอันสูงสุดที่เราจะพึงได้ แต่ก็ต้องเจริญภาวนาให้ถึงซึ่งพระนิพพาน จึงจะได้ชื่อว่าถึงที่พึ่งอันสูงสุดอย่างแท้จริง และที่พึ่งคือพระนิพพานนี่เอง ที่ท่านเรียกว่า ที่พึ่งที่ได้ยาก ในพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้

การฝึกนี้ก็คือการบำเพ็ญภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุนั่นเอง

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว พวกเราเหล่าพุทธสาวก พึงเร่งขวนขวายสร้างที่พึ่งให้ตัวเอง ทั้งที่พึ่งระดับต่ำ ระดับกลาง และระดับสูง ดังที่กล่าวมา อย่ามัวไปเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่าใช้เวลาให้หมดไปกับเรื่องเหลวไหลไร้สาระ

พึงเร่งสร้างที่พึ่งอันประเสริฐให้ตนเอง อย่าปล่อยให้ตนเองต้องกลายเป็นคนไร้ที่พึ่งอนาถา เพราะไม่มีใครเลยสักคนบนโลกใบนี้ ที่จะสามารถเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้อย่างแท้จริง ทุก ๆ คนต่างต้องพึ่งตนเองทั้งสิ้น คือพึ่งตนเองในการสร้างที่พึ่งอันประเสริฐคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ได้ยากยิ่งนัก.