บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณธรรมอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลัง ฯลฯ

อตฺตานเมว ปฐมํ     ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมนุสาเสยฺย     น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต.

[คำอ่าน]

อัด-ตา-นะ-เม-วะ, ปะ-ถะ-มัง………..ปะ-ติ-รู-เป, นิ-เว-สะ-เย
อะ-ถัน-ยะ-มะ-นุ-สา-ไส-ยะ……นะ, กิ-ลิด-ไส-ยะ, ปัน-ทิ-โต

[คำแปล]

“บัณฑิต พึงตั้งตนไว้ในคุณธรรมอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลังจึงไม่มัวหมอง”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/36.

คนที่เราควรสอนเป็นคนแรก ก็คือตัวเราเอง คนที่เราควรฝึกเป็นคนแรก ก็คือตัวเราเอง เพราะถ้าเราสอนตัวเองยังไม่ได้ ฝึกตัวเองยังไม่ได้ ก็ย่อมไม่คู่ควรที่จะไปสอนคนอื่นเลย

แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้เลิศในโลก พระองค์ก็ทรงฝึกฝนพระองค์เองจนได้ตรัสรู้ธรรมขั้นสูงก่อน แล้วจึงนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมาสอนพวกเราเหล่าสาวก

เราทั้งหลายผู้ได้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็ควรฝึกตนเองให้เป็นผู้มีคุณธรรมเบื้องต้นของคนดีเสียก่อน จึงจะมีคุณสมบัติพอที่จะไปแนะนำพร่ำสอนคนอื่นได้

คุณธรรมที่เราต้องมีเบื้องต้น เรียกว่า สัปปุริสธรรม หรือ คุณสมบัติของคนดี มี 7 ข้อ คือ

1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้หลักธรรม หรือ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายถึง การรู้จักหลักเกณฑ์หรือหลักธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด เช่น รู้ว่าหลักธรรมที่ชื่อว่า อิทธิบาท คืออะไร มีหลักธรรมย่อย ๆ อะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง รู้ว่าพรหมวิหารธรรมคืออะไร มีหัวข้อธรรมข้อไหนเป็นองค์ประกอบบ้าง เป็นต้น

2. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักอรรถ หรือ ความเป็นผู้รู้จักผล ความหมายก็คือ เมื่อรู้จักหลักธรรมแต่ละข้อแล้ว ต้องรู้จักความมุ่งหมายของหลักธรรมนั้น ๆ ด้วย ว่ามีจุดมุ่งหมายหรือมีอานิสงส์อย่างไร เช่น รู้ว่าอิทธิบาท 4 เป็นหลักธรรมเพื่อความสำเร็จแห่งการงานทั้งหลาย รู้ว่าเมื่อปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร 4 ประการแล้ว จะเป็นผลให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข เป็นต้น โดยความก็คือ รู้ว่าทำอะไรแล้วจะเกิดผลอย่างไร หรือรู้ว่าถ้าต้องการผลอย่างนี้ต้องใช้หลักธรรมข้อไหน นั่นเอง

3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักตนเองว่า โดยฐานะ โดยภาวะ โดยเพศ โดยกำลัง โดยความรู้ โดยความสามารถ โดยความถนัด โดยคุณธรรม เป็นต้น เราเป็นอย่างไร เรามีสักยภาพแค่ไหน อะไรคือจุดเด่น อะไรคือจุดด้อย อะไรที่ต้องตัด อะไรที่ต้องเพิ่ม อะไรที่ต้องปรับปรุง แล้วก็ประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ภาวะของตน

4. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือรู้จักความพอดี เช่น รู้จักประมาณในการทำงาน รู้จักประมาณในการพูด รู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์สิน เป็นต้น เมื่อรู้จักประมาณแล้ว ก็จะสามารถทำกิจทั้งปวงด้วยความพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป การทำกิจทั้งปวงก็จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี

5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสมที่จะทำการใด ๆ และรู้ระยะเวลาที่เหมาะสมในการประกอบกิจต่าง ๆ ทำให้การทำหน้าที่การงานหรือการปฏิบัติภารกิจทั้งปวงเป็นไปโดยตรงเวลา ทันเวลา ใช้เวลาได้เหมาะสม เป็นต้น

6. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชนหรือสังคม คือ รู้ว่าสมาคมนี้เป็นอย่างไร เมื่อเข้าไปในสมาคมนี้หรือชุมชนนี้ ต้องประพฤติตัวอย่างไร ต้องพูดอย่างไร ต้องใช้กิริยาวาจาอย่างไร เป็นต้น ทำให้สามารถเข้าสมาคมกับคนอื่น ๆ ได้โดยสง่าผ่าเผย ไม่เก้อเขิน

7. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคลหรือความแตกต่างแห่งบุคคล คือรู้ว่าคนนั้นเป็นเช่นไร คนนี้เป็นเช่นไร เขามีอัธยาศัยอย่างไร ความสามารถของเขาเป็นอย่างไร คุณธรรมของเขาเป็นอย่างไร เป็นคนดีหรือคนไม่ดี คบได้หรือคบไม่ได้ เมื่อต้องติดต่อกับคนนี้ต้องทำตัวอย่างไร คนนี้ควรยกย่องสรรเสริญหรือควรแนะนำอย่างไร เป็นต้น

เมื่อฝึกตนเองให้มีคุณธรรมทั้ง 7 ข้อดังกล่าวมานี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือคนดี และคู่ควรที่จะสามารถแนะนำสั่งสอนคนอื่น ๆ ได้.