ถ้าสอนผู้อื่นฉันใด พึงทำตนฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว ควรฝึกผู้อื่น ฯลฯ

อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา     ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ     อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม

[คำอ่าน]

อัด-ตา-นัน-เจ, ตะ-ถา, กะ-ยิ-รา…..….ยะ-ถัน-ยะ-มะ-นุ-สา-สะ-ติ
สุ-ทัน-โต, วะ-ตะ, ทะ-เม-ถะ………..อัด-ตา, หิ, กิ-ระ, ทุด-ทะ-โม

[คำแปล]

“ถ้าสอนผู้อื่นฉันใด พึงทำตนฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว ควรฝึกผู้อื่น ได้ยินว่า ตนแลฝึกได้ยาก”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/36.

“ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน” คนที่มีหน้าที่สอนคนอื่น หรือคนที่มักจะสอนหรือให้คำแนะนำคนอื่นอยู่เสมอ ถ้าเขาไม่ทำตัวให้เหมือนอย่างที่สอนคนอื่น คือสอนคนอื่นอย่างหนึ่ง แต่ทำตัวอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้ เขาย่อมจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากคนอื่น ไม่มีใครเลยที่จะยอมรับนับถือคนที่ สอนคนอื่นอย่างหนึ่ง แต่ทำตัวอีกอย่างหนึ่ง

ธรรมดาบุคคลทั้งหลายบนโลกใบนี้ ผู้ที่ได้ชื่อว่าฝึกยากที่สุด สอนยากที่สุด ก็คือตัวเราเองนี่แหละ เพราะโดยธรรมชาติ คนเรามักจะคอยสอดส่องหาข้อบกพร่องของคนอื่น เมื่อเห็นข้อบกพร่องของคนอื่นแล้ว ก็จะคอยตำหนิว่า คนนี้ไม่ดีอย่างนั้น คนนั้นไม่ดีอย่างนี้ บอกคนอื่นว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยลืมมองกลับมาที่ตนเอง ลืมสอดส่องข้อบกพร่องของตนเอง ลืมฝึกตนเองไปเสีย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ก่อนที่จะไปสอนคนอื่น ให้สอนตนเองให้ได้เสียก่อน เพราะตนเองนี่แหละสอนยากนัก ฝึกยากนัก

แล้วจะต้องฝึกตนเองอย่างไร ต้องฝึกอะไรบ้าง

สิ่งที่จะต้องฝึกเบื้องต้นมี 3 ด้านคือ ฝึกกาย ฝึกวาจา และฝึกใจ

ฝึกกาย เราควรฝึกกายให้ดี 3 ด้าน คือ

1. ฝึกกายให้งดเว้นจากการทำลายชีวิตผู้อื่น เราควรฝึกตนเองให้เป็นผู้ที่มีใจเมตตา ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหงรังแกผู้อื่น ไม่ผลาญชีวิตผู้อื่นหรือสัตว์อื่น คือเว้นจากปาณาติบาต โดยมาคิดดูว่า แม้แต่ตัวเราเองก็รักชีวิตของเรา ไม่อยากให้ใครมาทำลายชีวิตของเรา คิดได้ดังนี้แล้ว ก็งดเว้นเสียจากการทำลายชีวิตผู้อื่น จากการเบียดเบียนผู้อื่น คือรักษาศีลข้อที่ 1 ให้ดี

2. ฝึกกายไม่ให้เป็นคนหัวขโมย อทินนาทาน การลักขโมยนั้นเป็นกิริยาของคนไร้การศึกษา ไร้ศีลธรรม เป็นกิริยาที่สังคมรังเกียจ ไม่ยอมรับ เราควรฝึกตัวเราเองไม่ให้เป็นคนหัวขโมย ไม่ถือเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินใด ๆ ของคนอื่น โดยที่เจ้าของเขาไม่ยินยอม โดยมาคิดว่า แม้แต่ตัวเราเองยังหวงแหนสิ่งของของเรา คนอื่นเขาก็ย่อมหวงแหนสิ่งของของเขาเช่นเดียวกัน คิดได้ดังนี้แล้ว ก็อย่าไปลักขโมยของเขา ตั้งใจรักษาศีลข้อที่ 2 ให้มั่นคง

3. ฝึกกายไม่ให้ประพฤติผิดในกาม กาเมสุมิจฉาจาร คือการผิดลูกผิดเมียคนอื่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม เป็นกิริยาที่สังคมรังเกียจเป็นอย่างมาก เราควรฝึกตนให้งดเว้นเด็ดขาดจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการล่วงละเมิดลูกเมียและสามีคนอื่น ตั้งใจรักษาศีลข้อที่ 3 ให้ดี

ทั้ง 3 ข้อนี้ ได้แก่ การประพฤติกายสุจริต 3 อย่างนั่นเอง

ฝึกวาจา นอกจากฝึกกายแล้ว เราต้องฝึกวาจาของเราให้ดี 3 ด้านควบคู่กันไป ดังนี้

1. ฝึกวาจาไม่ให้เป็นคนชอบโกหก มุวาวาท คือ การพูดโกหก การพูดคำเท็จ คนที่ชอบโกหก ย่อมไม่ได้รับความเชื่อถือหรือความไว้วางใจจากคนอื่น ไม่ได้รับความเคารพนับถือจากคนอื่น หนัก ๆ เข้าอาจไม่มีคนอยากคบค้าสมาคมด้วยเลยก็เป็นได้ เพราะถ้าเขาเป็นคนโกหก ความชั่วอย่างอื่น ๆ เขาก็ย่อมจะทำได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เราต้องฝึกตนเองไม่ให้เป็นคนโกหก คือเว้นจากมุสาวาท

2. ฝึกวาจาไม่ให้เป็นคนชอบพูดส่อเสียด ปิสุณวาจา หรือ การพูดส่อเสียดคือการพูดจาให้คนอื่นเขาแตกสามัคคีกัน นำความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น นำความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ พูดจายุยงส่งเสริมให้เขาแตกคอกัน อย่างนี้เรียกว่าพูดส่อเสียด คนมักพูดส่อเสียดเช่นนี้เข้าไปในสังคมไหนเป็นอันได้วงแตก คนประเภทนี้คบไม่ได้ เราเองก็ต้องฝึกตนเองไม่ให้เป็นคนส่อเสียด คือเว้นจากปิสุณวาจา

3. ฝึกวาจาไม่ให้เป็นคนชอบพูดจาหยาบคาย ผรุสวาจา หรือ การพูดจาหยาบคายเป็นกิริยาที่น่าติเตียน เป็นกิริยาที่คนดีมีศีลธรรมเขาไม่ทำกัน คำพูดที่หยาบโลนย่อมไม่มีใครปรารถนาจะได้ยิน คนที่มักพูดจาหยาบคายก็ย่อมไม่มีใครอยากจะพูดด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราควรฝึกตนเองให้เป็นคนพูดจาอ่อนหวานน่าฟัง งดเว้นการพูดจาหยาบคายเสียให้ได้

4. ฝึกวาจาไม่ให้เป็นคนพูดเพ้อเจ้อ สัมผัปปลาป หรือ การพูดเพ้อเจ้อคือการพูดจาเหลวไหลไร้สาระ หาประโยชน์มิได้ อาจจะดูเหมือนไม่ได้ผิดอะไรมากมาย แต่พุทธศาสนาไม่สรรเสริญคนพูดจาเหลวไหลไร้ประโยชน์ แต่สรรเสริญคนที่พูดจาดีมีประโยชน์ ดังนั้น เมื่อจะพูดสิ่งใด ควรคำนึงด้วยว่า สิ่งนั้นเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ไม่พูดเสียเลยจะเป็นการดีกว่า

การฝึกวาจาทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมา เมื่อรวมลงแล้วก็ได้แก่การรักษาศีลข้อที่ 4 ให้ดี หรือการประพฤติวจีสุจริต 4 อย่างนั่นเอง

ฝึกใจ นอกจากฝึกกายและฝึกวาจาแล้ว เราต้องฝึกใจควบคู่ไปด้วย 3 ด้าน คือ

1. ฝึกใจไม่ให้โลภ อภิชฌา หรือ ความโลภ คือความคิดอยากได้ของคนอื่น เพ่งเล็งที่จะเอาของของคนอื่นมาเป็นของตนเองให้ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เมื่อความโลภเกิดขึ้นมาแล้ว มนุษย์เราย่อมทำชั่วได้หลากหลายประเภท เช่น ลักขโมย ฉก ชิง วิ่งราว ฆ่าชิงทรัพย์ ฉ้อโกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น ความชั่วเหล่านี้ย่อมมีสาเหตุมาจากความโลภทั้งสิ้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องฝึกตนเองไม่ให้ตกเป็นทาสของความโลภ

2. ฝึกใจไม่ให้พยาบาทปองร้ายคนอื่น ความคิดพยาบาทปองร้าย เป็นเหมือนไฟสุมทรวงที่คอยแผดเผาให้มนุษย์เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา หากตัดความพยาบาทปองร้ายนี้ไม่ได้ ย่อมไม่มีวันที่จะอยู่เป็นสุขได้ ซ้ำร้ายยังจะเป็นสาเหตุให้เราไปทำร้ายคนอื่นจนถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้ ผลก็คือตัวผู้กระทำเองต้องรับโทษของการกระทำที่เกิดจากความพยาบาทปองร้ายนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่ย่อมได้รับโทษทางกฎหมายบ้านเมือง เมื่อตายไปแล้วยังต้องรับโทษตามกฎแห่งกรรมอีกด้วย การฝึกตนเองให้เป็นคนไม่มีความพยาบาทปองร้าย ย่อมจะเป็นการดีที่สุด

3. ฝึกใจให้มีความเห็นตรงตามธรรม หมายถึง การฝึกตนให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ ไม่ให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะคนที่มีความเห็นผิด ย่อมจะสามารถทำสิ่งที่ผิดได้อย่างยิ่งใหญ่และหลากหลาย เพราะความเห็นผิด ๆ ของเขานั่นเอง ส่วนคนที่เป็นสัมมาทิฏฐิคือมีความเห็นชอบ ย่อมจะหลีกเว้นจากการกระทำความผิดทั้งหลายเสียได้ ดังนั้น การฝึกตนให้เป็นคนมีความเห็นตรงตามทำนองคลองธรรมนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

การฝึกใจทั้ง 3 ข้อนี้ ก็ได้แก่ การประพฤติมโนสุจริต 3 อย่างนั่นเอง

เมื่อเราสามารถฝึกตนเองได้ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดังกล่าวมานี้แล้ว เราย่อมจะได้ชื่อว่า เป็นผู้สมควรที่จะสอนคนอื่นได้ และคนอื่น ๆ ย่อมจะยอมรับว่าเราเหมาะสมที่จะสอนเขาได้ และเชื่อสิ่งที่เราสอนอย่างแน่นอน แต่ถ้ายังฝึกตนเองไม่ได้ ก็อย่าได้ไปสอนใครเขาเลย.