บุคคลไม่ควรพร่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก ฯลฯ

อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน     พหุนาปิ น หาปเย
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย     สทตฺถปสุโต สิยา.

[คำอ่าน]

อัด-ตะ-ทัด-ถัง, ปะ-รัด-เถ-นะ……พะ-หุ-นา-ปิ, นะ, หา-ปะ-เย
อัด-ตะ-ทัด-ถะ-มะ-พิน-ยา-ยะ……สะ-ทัด-ถะ-ปะ-สุ-โต, สิ-ยา

[คำแปล]

“บุคคล ไม่ควรพร่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/37.

ประโยชน์ มี 3 อย่าง คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

ประโยชน์ในโลกนี้ (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) คือประโยชน์ที่สามารถเห็นได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มี 4 อย่าง คือ

1. อุฏฐานสัมปทา ความขยันขันแข็งในการประกอบกิจการงานทั้งหลาย จะก่อประโยชน์ให้เราในด้านการสร้างฐานะ เป็นเหตุให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองอันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีต้องใช้ในฐานะชาวโลกคนหนึ่ง

2. อารักขสัมปทา การรู้จักรักษาทรัพย์สินสมบัติที่หามาได้ จะก่อประโยชน์ในด้านการรักษาทรัพย์ไม่ให้เสื่อมสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ มีทรัพย์สินสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น จะได้ไม่ต้องลำบากในภายภาคหน้า

3. กัลยาณมิตตตา การคบคนดีเป็นมิตร ไม่หลงผิดไปคบคนพาล จะก่อประโยชน์ในด้านของการมีมิตรคอยช่วยเหลือเกื้อกูล และไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี ในทางกลับกัน จะมีกัลยาณมิตรคอยแนะนำในทางที่ถูกที่ควรอยู่เสมอ

4. สมชีวิตา การใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายสมฐานะ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว จะก่อประโยชน์ในด้านของการรักษาทรัพย์ไว้ได้ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน อยู่กินแบบพอเพียง ทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิต

ประโยชน์ในโลกหน้า (สัมปรายิกัตถะ) คือ ประโยชน์ที่เราจะต้องสร้างในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และจะเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และสืบเนื่องไปถึงสัมปรายภพคือโลกหน้าด้วย มี 4 อย่าง คือ

1. สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือมีความเชื่อในเรื่องของกรรม ผลของกรรม เชื่อว่าสัตว์โลกทั้งปวงมีกรรมเป็นของตน และเชื่อมั่นในหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนำมาสอนพวกเราเหล่าชาวพุทธ ความเชื่อที่ถูกต้องนี้จะทำให้เราเป็นสัมมาทิฏฐิ และเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วก็จะไปเกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ

2. สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล คือเป็นผู้รักษาศีลบริบูรณ์ ฆราวาสอย่างเรา ๆ นี้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องรักษาศีลห้าข้อให้สมบูรณ์ อย่าให้ขาด การเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์นี้จะทำให้คนทั้งหลายยกย่องเชิดชู จะทำให้เราเป็นที่รักและเคารพของคนทั้งหลาย เมื่อตายไปก็จะได้ไปสู่สุคติภูมิ ไม่ไปสู่ทุคติอย่างแน่นอน

3. จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการสละ คือการเป็นคนรู้จักเสียสละ โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตใจยินดีในการให้ทาน และการสละทรัพย์สินสิ่งของเพื่อช่วยเหลือคนอื่น บุคคลเช่นนี้จะเป็นที่รักของคนทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วไปเกิดในภพภูมิใหม่ก็จะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโภคทรัพย์

4. ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา หมายถึง ความเป็นผู้มีปัญญาในทางธรรม คือรู้ผิดชอบชั่วดี รู้บาปบุญคุณโทษ รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ รู้ว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ บุคคลเช่นนี้ เมื่อมีชีวิตอยู่ย่อมได้รับความยกย่องนับถือจากผู้อื่น เพราะเขาสามารถแนะนำผู้อื่นในทางที่ถูกที่ควรได้ เมื่อตายไปแล้วย่อมได้ไปสู่สุคติภูมิ

ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน หมายถึง การปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์คือพระนิพพาน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่เราทั้งหลายจะสามารถพ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง และเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ประโยชน์ดังกล่าวมานี้ เป็นประโยชน์ที่เราทั้งหลายจะต้องขวนขวายด้วยตนเอง ไม่มีใครสามารถทำแทนกันได้ ตราบยังมีชีวิตอยู่ อย่าปล่อยให้เวลาสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรรีบขวนขวายสร้างประโยชน์ดังกล่าวนี้ไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้ชื่อว่า ไม่พร่าประโยชน์ของตน.