ใจสั่งมา

เรา (ตถาคต) ไม่เห็นความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา ฯลฯ

นาญฺญตฺร โพชฺฌาตปสา     นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา
นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา     โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ.

[คำอ่าน]

นาน-ยัด-ตระ, โพด-ชา-ตะ-ปะ-สา….นาน-ยัด-ตระ, อิน-ทริ-ยะ-สัง-วะ-รา
นาน-ยัด-ตระ, สับ-พะ-นิด-สัก-คา….โสด-ถิง, ปัด-สา-มิ, ปา-นิ-นัง

[คำแปล]

“เรา (ตถาคต) ไม่เห็นความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา ความเพียร ความระวังตัว และการสละสิ่งทั้งปวง.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/75.

ปัญญา คือความรอบรู้ เป็นสิ่งที่ต้องปรารถนาทั้งทางโลกและทางธรรม ปัญญาทางโลก คือความรู้ในการประกอบกิจสัมมาชีพทั้งปวง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ปัญญาทางธรรม คือความรู้ผิดชอบชั่วดี รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ตลอดจนความรู้สูงสุดคือรู้อริยสัจสี่

ความเพียร คือ ความพยายามเอาใจใส่ทำกิจที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วงโดยไม่ย่อท้อไม่ถอดใจ ความเพียรนี้เป็นสิ่งที่ต้องปรารถนาทั้งทางโลกและทางธรรมเช่นเดียวกัน ในทางโลก ความเพียรช่วยให้บุคคลสามารถประกอบกิจการให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี ในทางธรรม ความเพียรช่วยให้มีความมุมานะบากบั่นบำเพ็ญธรรมเพื่อความพ้นทุกข์จนสำเร็จได้

ความระวังตัว มาจากคำว่า สังวร หมายถึงการระวังจิตระวังใจป้องกันบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาครอบงำจิตใจ ไม่ให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นบงการจิตใจให้กระทำความชั่วทั้งปวง

การสละสิ่งทั้งปวง หมายถึง การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งหลาย วางใจเป็นกลางไม่ยินดียินร้ายในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ มองเห็นความไม่เป็นสาระในสิ่งลวงโลกทั้งหลายแล้วปล่อยวางเสียได้ไม่ยึดติด

ทั้ง 4 อย่างดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้แก่ ปัญญา ความเพียร ความระวังตัว และการสละสิ่งทั้งปวง พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นความสวัสดีของสรรพสัตว์.