สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา

สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา.

[คำอ่าน : สับ-เพ-สัง, สัง-คะ-พู-ตา-นัง, สา-มัก-คี, วุด-ทิ-สา-ทิ-กา]

“ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ”

(ส.ส.)

คำว่า “สามัคคี” หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความร่วมแรงร่วมใจกัน ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันนี้เรียกว่า ความสามัคคี

บุคคลทั้งหลายที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมขนาดเล็ก ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล หรือสังคมที่ใหญ่ขึ้น เช่น อำเภอ จังหวัด หรือระดับประเทศ ล้วนจำเป็นที่จะต้องมีความสามัคคีเป็นคุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว

เพราะการอยู่ร่วมกันหลาย ๆ คน เป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำกิจต่าง ๆ ไม่เช่นนั้น งานของกลุ่มคนนั้น ๆ ก็จะไม่สามารถสำเร็จได้

เพราะถ้าต่างคนต่างแยกกัน ไม่มีใครช่วยเหลือกัน ต่างคนต่างอยู่ เมื่อมีกิจที่จำเป็นต้องใช้คนมากก็ไม่มีใครช่วยกัน เช่นนี้ งานนั้นก็สำเร็จไม่ได้

แต่ถ้าทุกคนในสังคมเดียวกันหรือในกลุ่มเดียวกันต่างร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือกัน เช่นนี้ งานใหญ่ก็กลายเป็นงานเล็ก งานยากก็กลายเป็นงานง่าย เพราะทุกคนช่วยเหลือกัน แล้วความสุขความเจริญก็จะตามมาอย่างแน่นอน