อินฺทฺริยานิ รกฺขนฺติ ปณฺฑิตา “บัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์”

อินฺทฺริยานิ รกฺขนฺติ ปณฺฑิตา.

[คำอ่าน : อิน-ทริ-ยา-นิ, รัก-ขัน-ติ, ปัน-ทิ-ตา]

“บัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์”

(ที.มหา. 10/288, สํ.ส. 15/37)

ผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้น คือผู้ที่มีปัญญารอบรู้ คือรู้ทางเสื่อม รู้ทางเจริญ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง ไม่หลงไปตามสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งให้เป็นไปทั้งหลาย

เมื่อบัณฑิตเป็นผู้มีปัญญาเช่นนี้ ผู้ที่เป็นบัณฑิต ย่อมละเว้นสิ่งที่เป็นความชั่ว เป็นทางแห่งความเสื่อม ไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ถือเอาสิ่งที่เป็นความเจริญ เป็นความดี เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น คือทำแต่ความดีและเป็นประโยชน์นั่นเอง

บัณฑิตย่อมสำรวมอินทรีย์อยู่ทุกเมื่อ คือ

  • สำรวมตา ไม่ให้บาปเกิดขึ้นทางตา ได้แก่ เมื่อได้เห็นสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ก็สำรวมระวัง ไม่ทำบาปเพราะเหตุนั้น
  • สำรวมหู ไม่ให้บาปเกิดขึ้นทางหู ได้แก่ เมื่อได้ยินเสียงที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม ก็สำรวมระวัง ไม่ทำบาปเพราะเหตุนั้น
  • สำรวมจมูก ไม่ให้บาปเกิดขึ้นทางจมูก ได้แก่ เมื่อได้กลิ่นที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม ก็สำรวมระวัง ไม่ทำบาปเพราะเหตุนั้น
  • สำรวมลิ้น ไม่ให้บาปเกิดขึ้นทางลิ้น ได้แก่ เมื่อได้ลิ้มรสที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม ก็สำรวมระวัง ไม่ทำบาปเพราะเหตุนั้น
  • สำรวมกาย ไม่ให้บาปเกิดขึ้นทางกาย ได้แก่ เมื่อได้รับสัมผัสทางกายที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม ก็สำรวมระวัง ไม่ทำบาปเพราะเหตุนั้น

รวมควมว่า บัณฑิตย่อมสำรวมระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น ป้องกันบาปทุกวิถีทาง พร้อมทั้งบำเพ็ญบุญกุศลให้ถึงพร้อมอยู่ทุกเมื่อ