อนตฺถํ ปริวชฺเชติ อตฺถํ คณฺหาติ ปณฺฑิโต

อนตฺถํ ปริวชฺเชติ อตฺถํ คณฺหาติ ปณฺทิโต.

[คำอ่าน : อะ-นัด-ถัง, ปะ-ริ-วัด-เช-ติ, อัด-ถัง, คัน-หา-ติ, ปัน-ดิ-โต]

“บัณฑิตย่อมเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์”

(องฺ.จตุกฺก. 21/59)

บัณฑิต คือ ผู้ที่มีปัญญารอบรู้ ได้แก่ รู้ทางเสื่อม รู้ทางเจริญ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

บุคคลผู้เป็นบัณฑิตนั้น เมื่อมีความรอบรู้เช่นนี้ ท่านย่อมใช้ปัญญาพิจารณา ละเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ได้แก่ การทำทุจริต ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ อันเป็นหนทางแห่งความเสื่อม

นอกจากละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แล้ว บัณฑิตยังรู้จักถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ การกระทำสุจริตทั้งทางกาย วาจา และทางใจ อีกทั้งยังปฏิบัติขัดเกลาตน เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่งในทางพระพุทธศาสนา นั่นคือ พระนิพพาน

พวกเราเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พึงดำเนินตามวิถีแห่งบัณฑิต ฝึกตนให้เป็นผู้มีการกระทำ มีคำพูด และมีความคิด เช่นเดียวกับบัณฑิต คือทำ พูด คิด ในทางที่จะละเว้นกรรมชั่ว กระทำกรรมดี ละเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ จึงจะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา