อายุวัฒนธรรม 5 ประการ (หมวดที่ 2)

อายุสสธรรม หรือ อายุวัฒนธรรม คือ ธรรมที่เกื้อกูลแก่อายุ หรือธรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ ธรรมที่ช่วยให้อายุยืน เป็นหลักธรรมสำหรับยึดปฏิบัติเพื่อความมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย และมีอายุยืนยาว มี 5 ประการ คือ

1. สัปปายการี

สัปปายการี แปลว่า ทำสิ่งที่สบายคือเอื้อต่อชีวิต หมายถึง การทำสิ่งที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ได้ด้วยดีของสังขารร่างกาย เช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี ไม่กระทำสิ่งที่เป็นโทษต่อสังขารร่างกาย เช่น การเสพสิ่งเสพติด การดื่มสุราเมรัย เป็นต้น

2. สัปปายมัตตัญญู

สัปปายมัตตัญญู รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ถึงแม้ว่าการทำสิ่งที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ได้ของชีวิต ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นนั้นจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องรู้จักประมาณ คือทำแต่พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะถ้าไม่รู้จักประมาณเสียแล้ว สิ่งนั้นอาจกลับกลายเป็นโทษได้

3. ปริณตโภชี

ปริณตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย ข้อนี้มุ่งเอาพฤติกรรมในการกิน คือต้องกินอาหารที่ย่อยง่าย ไม่เพิ่มภาระให้กระเพาะ บริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนเพื่อให้ง่ายต่อการย่อย เป็นต้น เป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บอันมีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมแก่ภาวะของร่างกาย

4. สีลวา

สีลวา มีศีล ประพฤติดีงาม ไม่ทำความผิด การมีศีลคือรักษาศีลให้บริบูรณ์ เป็นหลักประการหนึ่งที่เอื้อต่อความมีอายุยืนยาว เอื้อต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยจะเห็นได้จากการละเมิดศีลบางข้อเป็นการทำลายสุขภาพโดยตรง เช่น การละเมิดศีลข้อที่ 5 ดื่มสุราเมรัยเป็นประจำ ย่อมเป็นเหตุทำลายสุขภาพให้เสื่อมโทรม

5. กัลยาณมิตตะ

กัลยาณมิตตะ มีกัลยาณมิตร การคบคนดีเป็นมิตร ก็เป็นเหตุเอื้อต่อการมีอายุยืนยาวได้เช่นกัน เพราะเพื่อนที่ดีจะชักชวนกันไปในทางที่ดี ไม่พากันดำเนินทางที่ผิด ไม่พากันไปกินเหล้าเมายาให้เสียทรัพย์เสียสุขภาพ ยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยดูแลกัน ประคับประคองกัน ยามมีภัยก็ช่วยเหลือกัน เป็นต้น