อาวาสิกธรรม 5 ประการ (หมวดที่ 1)

อาวาสิกธรรม คือ ธรรมของภิกษุผู้อยู่ประจำวัด แปลถือความมาใช้ให้เหมาะกับปัจจุบันว่า คุณสมบัติของเจ้าอาวาส หมวดที่ 1 ประเภทที่น่ายกย่อง หรือเป็นที่ชื่นชูเจริญใจ มี 5 ประการ คือ

1. ถึงพร้อมด้วยอากัปกิริยาและวัตรปฏิบัติ

ถึงพร้อมด้วยอากัปกิริยาและวัตรปฏิบัติ มีกิริยามารยาทท่าทีการแสดงออกทางกายวาจาสำรวมงดงาม และเอาใจใส่ปฏิบัติกิจหน้าที่สม่ำเสมอเรียบร้อย ภิกษุผู้ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส มีหน้าที่ปกครองภิกษุสามเณรทั้งปวงในอาวาสนั้น ๆ จะต้องเป็นผู้มีกิริยามารยาทงดงาม มีข้อวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสศรัทธา จึงจะเป็นที่เคารพยกย่องของภิกษุสามเณรทั้งหลายภายในวัด และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของศรัทธาสาธุชนทั้งหลาย

2. เป็นพหูสูต

เป็นพหูสูต ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก รู้หลักพระธรรมวินัย มีความรู้ความเข้าใจกว้างขวางลึกซึ้ง ภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส ต้องเป็นผู้มีความรู้ในพระธรรมวินัยมาก สามารถอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรทั้งหลายผู้อยู่ในปกครองให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบได้ สามารถแสดงธรรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายได้

3. ประพฤติขัดเกลา

ประพฤติขัดเกลา ฝึกอบรมตนในไตรสิกขา ชอบความสงบ ยินดีในกัลยาณธรรม ภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาสต้องเป็นผู้มีปกติประพฤติขัดเกลา คือยินดีในการบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อขัดเกลากิเลส ทำตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ฝึกอบรมตนในไตรสิกขาอยู่เป็นนิตย์ บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สมบูรณ์บริบูรณ์

4. มีกัลยาณพจน์

มีกัลยาณพจน์ มีวาจางาม กล่าวกัลยาณพจน์ รู้จักพูด รู้จักเจรจาน่าศรัทธาและนำปัญญา ภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส ต้องเป็นผู้มีวาจาน่าเลื่อมใส เพราะต้องติดต่อสื่อสารและเทศนาสั่งสอนคนทั้งหลายอยู่เนือง ๆ ทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาจากทุกทิศ การมีวาจาอันงดงาม มีวาทศาสตร์วาทศิลป์ ย่อมสามารถโน้มน้าวบุคคลทั้งหลายให้สนใจใฝ่ในธรรม สามารถสร้างประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาได้เป็นอันมาก

5. มีปัญญา

มีปัญญา รู้เข้าใจ รู้คิด รู้พิจารณา เฉลียวฉลาด สามารถแก้ปัญหา ภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส ต้องเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการแก้ปัญหาน้อยใหญ่อันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะการเป็นเจ้าอาวาสนั้น จะต้องปกครองคน รับผิดชอบหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นภายในอาวาส เจ้าอาวาสผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมนำพาอาวาสให้เจริญรุ่งเรืองได้