
ศีลข้อที่ ๒ อทินนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ศีลข้อนี้มีความมุ่งหมายให้มนุษย์เรางดเว้นการทำมาหากินโดยทุจริต ให้ทำมาหากินโดยทางสุจริต และเคารพในกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น โดยให้งดเว้นจากโจรกรรม รวมถึงงดเว้นจากการกระทำที่เป็นบริวารของโจรกรรมด้วย โดยให้งดเว้น
- โจรกรรม
- อนุโลมโจรกรรม
- ฉายาโจรกรรม
เฉพาะอนุโลมโจรกรรมกับฉายาโจรกรรม ต้องพิจารณาเจตนาร่วมด้วย ถ้ามีเจตนาทำลายกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ก็ถือว่าศีลขาด แต่ถ้าไม่ ก็ถือว่าศีลด่างพร้อย
โจรกรรม
การกระทำที่จัดเป็นโจรกรรม มี ๑๔ อย่าง คือ
- ลัก คือ ขโมยเอาทรัพย์สินของคนอื่น โดยเจ้าของทรัพย์เขาไม่เห็น
- ฉก คือ ชิงเอาทรัพย์ต่อหน้าต่อตาเจ้าของทรัพย์
- กรรโชก คือ ทำให้เขากลัวแล้วให้เขาให้ทรัพย์ หรือยกเว้นให้โดยไม่ต้องเสียทรัพย์
- ปล้น คือ รวมหัวกันหลายคน มีศรัตราอาวุธเข้าปล้นเอาทรัพย์
- ตู่ คือ อ้างหลักฐานพยานเท็จ หักล้างกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
- ฉ้อ คือ โกงเอาทรัพย์ของผู้อื่น
- หลอก คือ ปั้นเรื่องขึ้นให้เขาเชื่อ แล้วให้เขาให้ทรัพย์
- ลวง คือ ใช่เล่ห์เอาทรัพย์ด้วยเครื่องมือลวง
- ปลอม คือ ทำหรือใช้ของปลอม
- ตระบัด คือ ยืมของคนอื่นมาใช้แล้วยึดเอาเสีย
- เบียดบัง คือ กินเศษกินเลย
- สับเปลี่ยน คือ สลับเอาของผู้อื่นซึ่งมีค่ามากกว่า
- ลักลอบ คือ หลบหนีภาษีของหลวง
- ยักยอก คือ ใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ ถือเอาทรัพย์โดยไม่สุจริต

อนุโลมโจรกรรม
การกระทำที่เป็นอนุโลมโจรกรรม มี ๓ อย่าง คือ
- สมโจร คือ สนับสนุนโจร
- ปอกลอก คือ คบเขาเพื่อปอกลอกเอาทรัพย์
- รับสินบน คือ รับสินจ้างเพื่อกระทำผิดหน้าที่
การรับสินบน หากผู้รับมีเจตนาร่วมกับผู้ให้ในการทำลายกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น จัดว่าเป็นการร่วมทำโจรกรรมโดยตรง
ฉายาโจรกรรม
การกระทำที่เป็นฉายาโจรกรรม มี ๒ อย่าง คือ
- ผลาญ คือ การทำลายทรัพย์ของผู้อื่นให้หมดสิ้นไป
- หยิบฉวย คือ ถือวิสาสะเกินขอบเขต
ทั้งนี้ ถ้ามีเจตนาทำลายกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นร่วมอยู่ด้วย ก็ไม่พ้นจัดเป็นโจรกรรม
หลักวินิจฉัย
การกระทำโจรกรรมที่จะถึงขั้นทำให้ศีลข้อที่ ๒ ขาดนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
- ของนั้นมีเจ้าของ
- ตนรู้ว่าของนั้นมีเจ้าของ
- จิตคิดจะลัก
- พยายามลัก
- ได้ของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น