ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ความมุ่งหมายของศีลข้อนี้คือ มุ่งให้มนุษย์อบรมจิตใจของตนให้คลายจากความเหี้ยมโหด มีเมตตากรุณาต่อกัน และเผื่อแผ่แก่สัตว์ทั้งปวงด้วย

ถึงแม้ว่าศีลข้อนี้จะมุ่งห้ามการฆ่าโดยตรง แต่ก็ควรงดเว้นจากการกระทำที่เป็นบริวารของการฆ่าด้วย คือ

  1. การฆ่า ทำให้ศีลขาด
  2. การทำร้ายร่างกาย ทำให้ศีลด่างพร้อย
  3. การทรกรรม ทำให้ศีลด่างพร้อย

การฆ่า

การฆ่า คือการทำให้ชีวิตสัตว์ตกล่วงไป คือทำให้หมดลมหายใจ ขาดสันตติไป ซึ่งคำว่า สัตว์ หมายเอาทั้งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน โดยที่สุดแม้แต่สัตว์ที่อยู่ในครรภ์

การฆ่าสัตว์ทุกชนิด ย่อมทำให้ศีลขาดเหมือนกันหมด แต่เมื่อว่าโดยผลของบาปกรรมแล้ว ย่อมยิ่งหย่อนกว่ากันโดยคุณของสัตว์ที่ถูกฆ่านั้น

หลักวินิจฉัยบาปกรรม

ท่านวางหลักวินิจฉัยบาปกรรมไว้ 3 อย่าง คือ

  1. วัตถุ หมายถึง สัตว์ที่ถูกฆ่า
  2. เจตนา หมายถึง เจตนาของผู้ฆ่า
  3. ประโยค หมายถึง วิธีการฆ่า หรือความพยายามในการฆ่า

เมื่อพิจารณาโดยวัตถุ การฆ่าคนย่อมเป็นบาปมากกว่าการฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน และบาปย่อมยิ่งหย่อนกว่ากันโดยคุณของผู้ถูกฆ่าด้วย เช่น ฆ่าผู้มีคุณมาก ย่อมบาปมากกว่าฆ่าผู้มีคุณน้อย เป็นต้น

เมื่อพิจารณาโดยเจตนา การฆ่าด้วยจิตใจที่อำมหิตโหดเหี้ยม ฆ่าด้วยความโกรธที่รุนแรง ย่อมเป็นบาปมากกว่าฆ่าโดยทั่วไป

เมื่อพิจารณาโดยประโยค การฆ่าด้วยวิธีที่ทารุณโหดร้าย ย่อมเป็นบาปมาก

การทำร้ายร่างกาย

การทำร้ายร่างกาย คือ การทำให้เขาต้องเสียรูป เสียอวัยวะ เป็นต้น แต่ไม่ถึงกับตาย ถือเป็นการทำร้ายร่างกาย

การทำร้ายร่างกายนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการเบียดเบียนกันให้ต้องได้รับทุกข์ทรมาน ถึงไม่ทำให้ศีลข้อที่ 1 ขาด แต่ก็ทำให้ศีลด่างพร้อย

การทรกรรม

การทรกรรม คือการทำให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นได้รับความลำบาก โดยขาดเมตตาปราณี เช่น

  • ใช้งานเกินกำลัง ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับการพักผ่อนตามสมควร
  • กักขังในที่อันไม่อาจเปลี่ยนอิริยาบถได้ เป็นอันตราย
  • นำสัตว์ไปโดยวิธีทรมานยิ่งนัก
  • ผลาญสัตว์ เช่น ยั่วให้สัตว์ทำร้ายกัน เช่น ตีไก่ ชนวัว เป็นต้น เพื่อความสนุกของตน

หลักวินิจฉัยศีลข้อที่หนึ่ง

การฆ่าที่จะทำให้ศีลข้อที่หนึ่งขาดนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ 5 คือ

  1. สัตว์นั้นมีชีวิต
  2. ผู้ฆ่ารู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
  3. ผู้ฆ่าคิดจะฆ่า
  4. พยายามฆ่า
  5. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ชีวิต เป็นสมบัติล้ำค่าเพียงอย่างเดียวที่สัตว์ทุกชนิดมีอยู่ การพรากชีวิตเขา จึงหมายถึงการพรากทุกอย่างของเขาไป

การงดเว้นจากการฆ่า ย่อมเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทุกชีวิต ทำให้ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข