วิธีปฏิบัติต่อทุกข์และสุข 4 ประการ

วิธีปฏิบัติต่อทุกข์และสุข คือ หลักการเพียรพยายามให้ได้ผลในการละทุกข์และลุถึงสุข การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความทุกข์และความสุข ซึ่งเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา ที่แสดงว่า ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง จะมีผลจนสามารถเสวยสุขที่ไร้ทุกข์ได้ มี 4 ข้อ คือ

1. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ

ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ คือ ไม่วิ่งหาทุกข์ ไม่ปรุงแต่งจิตไปในทางที่จะเข้าสู่ความทุกข์ ได้แก่ การวางใจเป็นกลาง ๆ ไม่ให้เอนเอียงไปในฝ่ายที่เป็นทุกข์ เมื่อประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เป็นที่ชอบใจ ก็ให้วางใจเป็นกลาง ไม่คิดปรุงแต่งไปในทางที่ไม่พอใจอันจะก่อให้เกิดทุกข์ขึ้นในใจ เป็นต้น

2. ไม่สละความสุขที่ชอบธรรม

ไม่สละความสุขที่ชอบธรรม คือ เมื่อมีความสุขเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ ก็ไม่ปฏิเสธสุขเหล่านั้น เช่น สุขเกิดจากการแสวงหาทรัพย์สินมาได้โดยทางที่ชอบธรรม สุขเกิดจากการบำเพ็ญบุญกุศล สุขเกิดจากคนรอบข้าง เป็นต้น

3. ไม่สยบหมกมุ่นในสุขที่ชอบธรรมนั้น

ไม่สยบหมกมุ่นในสุขที่ชอบธรรมนั้น คือ แม้จะไม่ปฏิเสธความสุขที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม ก็พึงระวังจิตไม่ให้ลุ่มหลงหมกมุ่นในสุขเหล่านั้น โดยพิจารณาถึงหลักไตรลักษณ์คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำความเข้าใจว่า แม้ความสุขที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นสภาวะที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา จะได้ไม่เกิดความทุกข์โทมนัสในเมื่อความสุขนั้นหายไป

4. เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป

เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป คือ เมื่อเกิดทุกข์ขึ้น ให้พิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น ให้รู้ชัดว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วกำจัดสาเหตุนั้นเสีย อย่างสูงหมายถึงการเพียรพยายามปฏิบัติขัดเกลาตน ดำเนินตามวิถีอันจะเป็นเหตุกำจัดเหตุแห่งทุกข์อันได้แก่ ตัณหา 3 ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ให้หมดสิ้นไป ได้แก่ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ดำเนินตามวิถีแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง