นิสสัย 4 ประการ

นิสสัย คือ เครื่องอาศัยของบรรพชิต หมายถึง สิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของภิกษุ บนพื้นฐานของปัจจัย 4 แต่จำกัดแคบเข้ามา เพราะภิกษุไม่ควรดำรงชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ นิสสัยนั้นมี 4 อย่าง ดังนี้

1. ปิณฑิยาโลปโภชนะ

ปิณฑิยาโลปโภชนะ แปลว่า โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง หมายถึง อาหารบิณฑบาตที่ภิกษุแต่ละรูปได้มาจากชาวบ้าน คือภิกษุมีวัตรที่ต้องปฏิบัติในตอนเช้าของแต่ละวัน นั่นคือการออกเดินบิณฑบาต หรือเรียกว่า ออกโปรดสัตว์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้บำเพ็ญทานบารมีโดยการถวายอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุ หรือที่เรียกว่า ใส่บาตร นั่นเอง ปิณฑิยาโลปโภชนะ หมายถึงอาหารที่ได้มาโดยอาการอย่างนั้น เทียบกับปัจจัยสี่ ได้แก่ บิณฑบาต คืออาหาร

2. บังสุกุลจีวร

บังสุกุลจีวร แปลว่า ผ้าที่เปื้อนฝุ่น หมายถึง ผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะหรือตามป่าช้า ภิกษุจะไปเก็บเอาผ้าเหล่านั้นมาซักทำความสะอาด แล้วเย็บย้อมเป็นจีวรเพื่อนุ่งห่มเพื่อป้องกันเหลือบ ยุง ลม แดด เป็นต้น และเพื่อปกปิดอวัยวะอันยังหิริให้กำเริบ เทียบกับปัจจัยสี่ ได้แก่ จีวร คือเครื่องนุ่งห่ม

3. รุกขมูลเสนาสนะ

รุกขมูลเสนาสนะ แปลว่า ที่อยู่อาศัยคือโคนต้นไม้ หมายถึง การอยู่อาศัยตามโคนต้นไม้ คือเมื่อภิกษุออกบำเพ็ญสมณธรรมในป่า จะอาศัยอยู่ตามโคนต้นไม้พอให้กันแดดกันฝนได้บ้าง แทนการอยู่อาศัยในกุฏิ เป็นการไม่ยึดติดในที่อยู่อาศัย เพียงแต่อาศัยโคนต้นไม้พอให้ได้บำเพ็ญสมณธรรมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปัจจัยสี่ ได้แก่ เสนาสนะ คือ ที่อยู่อาศัย

4. ปูติมุตตเภสัช

ปูติมุตตเภสัช แปลว่า ยาน้ำมูตรเน่า หมายถึง ยารักษาโรค เมื่อภิกษุออกบำเพ็ญสมณธรรมตามป่า เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาจะแสวงหายารักษาโรคย่อมเป็นเรื่องยาก ภิกษุจะนำผลสมอมาดองกับน้ำมูตรคือปัสสาวะของตนเอง ใช้เป็นยารักษาโรคพอให้บรรเทาโรคบางชนิดลงได้บ้าง เพื่อจะได้มีเรี่ยวแรงบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป เมื่อเทียบกับปัจจัยสี่ ได้แก่ เภสัช คือยารักษาโรค