อาวาสิกธรรม 5 ประการ (หมวดที่ 9)

อาวาสิกธรรม คือ ธรรมของภิกษุผู้อยู่ประจำวัด แปลถือความมาใช้ให้เหมาะกับปัจจุบันว่า คุณสมบัติของเจ้าอาวาส หมวดที่ 9 ประเภทมีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ อีกหมวดหนึ่ง มี 5 ประการ คือ

1. ไม่มีอาวาสมัจฉริยะ

ไม่มีอาวาสมัจฉริยะ คือ ไม่ตระหนี่หวงแหนที่อยู่อาศัย เมื่อมีภิกษุอาคันตุกะเดินทางมาจากแดนไกลมาขอพักอาศัย ผู้เป็นเจ้าอาวาสไม่พึงหวงแหนเสนาสนะ พึงมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่อยู่อาศัยสำหรับพักค้างแรมแก่ภิกษุอาคันตุกะนั้นตามสมควร

2. ไม่มีกุลมัจฉริยะ

ไม่มีกุลมัจฉริยะ คือ ไม่ตระหนี่หวงแหนตระกูลอุปัฏฐาก การหวงแหนตระกูลอุปัฏฐากเป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งปวงไม่พึงกระทำ ตระกูลอุปัฏฐากเหล่านั้นย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะถวายการอุปัฏฐากภิกษุรูปอื่น ๆ ที่ตนศรัทธาเลื่อมใสได้โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดใด ๆ การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหวงแหนตระกูลอุปัฏฐากนั้น ย่อมเป็นการแสดงความเห็นแก่ตัวของตนอย่างหนึ่ง เป็นการตัดโอกาสของตระกูลอุปัฏฐากในการบำเพ็ญบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกประการหนึ่ง ดังนั้น การหวงแหนตระกูลอุปัฏฐากจึงเป็นสิ่งที่ภิกษุไม่พึงกระทำ

3. ไม่มีลาภมัจฉริยะ

ไม่มีลาภมัจฉริยะ คือ ไม่ตระหนี่หวงแหนลาภ ลาภที่ภิกษุทั้งหลายได้มานั้น ไม่ได้เกิดจากการทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่เกิดจากศรัทธาของประชาชนทั้งหลายที่มีต่อพระรัตนตรัย ไม่ใช่เพราะการลงทุนลงแรงของภิกษุรูปนั้น ๆ อีกทั้งความตระหนี่เป็นกิเลสตัวฉกาจที่จะต้องกำจัดเสียให้สิ้น ดังนั้น การตระหนี่หวงแหนลาภจึงเป็นสิ่งที่ภิกษุไม่พึงกระทำ

4. ไม่มีวัณณมัจฉริยะ

ไม่มีวัณณมัจฉริยะ คือ ไม่ตระหนี่วรรณะ คำว่า วรรณะ ในที่นี้ หมายเอา คุณวัณณะ คือคำสรรเสริญ หรือคุณงามความดี ดังนั้น คำว่า ตระหนึ่วรรณะ จึงหมายถึง ไม่อยากให้คนอื่นมีคุณงามความดีมาแข่งกับตน หรือไม่อยากให้ใครสรรเสริญคนอื่นมากกว่าตน ภิกษุที่ดีไม่พึงมีวัณณมัจฉริยะนี้ ในทางตรงกันข้าม พึงส่งเสริมความดีของผู้อื่น พึงยกย่งสรรเสริญคุณงามความดีของผู้อื่น เพราะนั่นเป็นวิสัยของวิญญูชน

5. ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป

ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป ชาวบ้านถวายโภชนะใดๆ จะด้อยหรือดี ก็ฉันด้วยตนเอง ไม่ทำของที่เขาถวายด้วยศรัทธาให้หมดคุณค่าไปเสีย การรักษาศรัทธาของญาติโยมเป็นสิ่งสำคัญที่จะละเลยเสียมิได้ ญาติโยมเขาลำบากตรากตรำทำงานหามรุ่งหามค่ำกว่าจะได้เงินมา กว่าจะหาข้าวปลาอาหารมาถวายพระสงฆ์สามเณรได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และหากไม่มีศรัทธาเสียแล้วเขาย่อมไม่ถวาย ดังนั้น เมื่อญาติโยมเขามีศรัทธา พึงรักษาศรัทธาของเขาไว้ให้ดี อย่าทำให้เขาต้องเสียศรัทธา