สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ อหุ สนฺโต ปติฏฺฐิตา

สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ อหุ สนฺโต ปติฏฺฐิตา.

[คำอ่าน : สัด-เจ, อัด-เถ, จะ, ทำ-เม, จะ, อะ-หุ, สัน-โต, ปะ-ติด-ถิ-ตา]

“สัตบุรุษได้ตั้งมั่นในความสัตย์ที่เป็นอรรถและเป็นธรรม”

(สํ.ส. 15/278, ขุ.สุ. 25/412, ขุ.เถร. 26/434)

คำว่า “สัตบุรุษ” หมายถึง ผู้ที่มีอัธยาศัยคงที่ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ทั้งหลายที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่วก็ตาม

สัตบุรุษ ย่อมมีปกติดำรงตนอยู่ในคุณธรรมคือความสัตย์ เป็นคนจริงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่เป็นคนปลิ้นปล้อนตอแหลหรือเหลาะแหละหละหลวม

ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า สัจจะหรือความสัตย์นี้ เป็นคุณธรรมที่สำคัญมากสำหรับบัณฑิตชนคนดี คนที่ขาดความสัตย์เสียแล้ว จะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตหรือสัตบุรุษได้นั้นย่อมไม่มี

จึงเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทั้งหลายจะยึดเอาคุณธรรมคือความสัตย์นี้เป็นคุณธรรมประจำตัวข้อหนึ่ง คือบำเพ็ญสัจจะให้เป็นปกติ จะได้ชื่อว่า เป็นสัตบุรุษ หรือ เป็นบัณฑิตชน