
ยาทิสํ วปเต พีชํ…….………ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ……ปาปการี จ ปาปกํ.
[คำอ่าน]
ยา-ทิ-สัง, วะ-ปะ-เต, พี-ชัง………………..ตา-ทิ-สัง, ละ-พะ-เต, ผะ-ลัง
กัน-ละ-ยา-นะ-กา-รี, กัน-ละ-ยา-นัง……..ปา-ปะ-กา-รี, จะ, ปา-ปะ-กัง
[คำแปล]
“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว.”
(พุทฺธ) สํ.ส. 15/333.
กรรมคือการกระทำทั้งหลาย ย่อมเปรียบได้กับการปลูกพืช ผู้หว่านข้าวลงในนา ย่อมได้รับผลผลิตเป็นข้าว สามารถนำมาบริโภคและขายได้ ผู้ปลูกมะม่วงไว้ในสวน ย่อมได้รับผลผลิตเป็นมะม่วง สามารถนำมาบริโภคและขายได้ หรือผู้ที่ปลูกพืชนิดอื่น ๆ เมื่อถึงเวลา ย่อมสามารถนำผลผลิตของพืชชนิดนั้น ๆ มาสร้างประโยชน์ได้
กรรมก็เช่นกัน ไม่ว่าผู้ใดทำกรรมเช่นใดไว้ เมื่อถึงเวลาที่กรรมเหล่านั้นมีโอกาสให้ผล ผู้ที่เป็นเจ้าของแห่งกรรม ย่อมต้องได้รับผลของกรรมนั้น เพราะสัตว์โลกทั้งปวง เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เป็นทายาทคือผู้รับผลแห่งกรรม ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน
ผู้ที่ทำกรรมชั่วอันเป็นฝ่ายแห่งทุจริต คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เมื่อกรรมเหล่านั้นได้โอกาสให้ผล เขาย่อมได้รับผลอันเป็นทุกข์เป็นโทษ ลิดรอนประโยชน์ให้หมดไป สร้างความฉิบหายให้เกิดขึ้น เขาย่อมได้รับความเดือดร้อนอันพอเหมาะพอดีแก่กรรมชั่วที่ตนกระทำ ไม่มากหรือน้อยไปกว่านั้น เรียกว่า ได้รับผลอันเสมอด้วยกรรม
ผู้ที่ทำกรรมดี อันเป็นฝ่ายแห่งสุจริต คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต เมื่อกรรมเหล่านั้นได้โอกาสให้ผล เขาย่อมได้รับผลอันเป็นคุณ เกื้อหนุนความเป็นไปแห่งชีวิต บรรเทาเรื่องร้าย ๆ ให้กลายเป็นดี ส่งเสริมสิ่งที่ดีให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป พอเหมาะพอดีกับกรรมดีที่ได้เคยสร้างไว้นั้น
จะเห็นได้ว่า กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ คือบุคคลทำกรรมใด ๆ ย่อมจะได้รับผลแห่งกรรมนั้นอย่างพอดีแก่กรรมเสมอ ไม่มีบิดพลิ้ว ไม่มีบิดเบือนไปจากกรรมที่ทำไว้จริง
ดังนั้น เราท่านทั้งหลาย อย่าปล่อยใจไปตามกิเลสอันเป็นเหตุชักนำให้หลงทำกรรมชั่วเลย พึงฝึกใจให้เข้มแข็ง ต้านทานแรงแห่งกิเลสให้ได้ หมั่นขัดเกลาจิตใจให้ใสสะอาดปราศจากมลทิน ยินดีแต่ในการสร้างกรรมดีเถิด จะได้รับผลอันประเสริฐอย่างแน่นอน.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา