
โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ…….…กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ
อตฺถา ตสฺส ปลุชฺชนฺติ………เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา.
[คำอ่าน]
โย, ปุบ-เพ, กะ-ตะ-กัน-ละ-ยา-โน……กะ-ตัด-โถ, นา-วะ-พุด-ชะ-ติ
อัด-ถา, ตัด-สะ, ปะ-ลุด-ชัน-ติ………….เย, โหน-ติ, อะ-พิ-ปัด-ถิ-ตา
[คำแปล]
“ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่รู้สึก (คุณของเขา) ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมฉิบหาย.”
(ทฬฺหธมฺมโพธิสตฺต) ขุ.ชา.สตฺตก. 27/228.
บุคคลผู้มีคุณ ได้แก่ ผู้ที่คอยชี้ทางธรรมนำทางถูก และผู้ที่คอยช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำชู
ผู้ที่คอยชี้ทางธรรมนำทางถูก ได้แก่ ครูอาจารย์ที่คอยถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ ให้มีความรู้ มีปัญญา ในอันที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนเอง
พระสงฆ์องเจ้าผู้ที่นำเอาหลักธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถ่ายทอดให้ได้รับรู้และนำไปปฏิบัติ
ผู้ที่แนะนำให้รู้จักการกำจัดมัจฉริยะคือความตระหนี่ มีใจยินดีในการสละให้ปันสิ่งของ บำเพ็ญทานบารมี สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ
ผู้ที่แนะนำให้รู้จักรักษาศีล ละเว้นจากการประพฤติทุจริตทั้งหลาย น้อมกายวาจาใจยินดีในการประพฤติสุจริตทั้งปวง ละชั่วทำดี
ผู้ที่แนะนำให้รู้จักเจริญภาวนา ทั้งส่วนที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา อันเป็นหนทางที่จะกำจัดกิเลสอาสวะทั้งหลายให้สิ้นไปจากจิตจากใจ มุ่งกระทำที่สุดแห่งทุกข์ มุ่งหน้าสู่ความสุขอันยั่งยืนคือพระนิพพาน
ตลอดจนกัลยาณมิตรทั้งหลายที่พานพบในชีวิต ที่คอยแนะนำในทางที่ดีมีประโยชน์ ปราศจากโทษทั้งปวง แนะนำให้เป็นคนดีศรีสังคม
ผู้ที่คอยช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำชู ได้แก่ พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ สนับสนุนให้ได้รับการศึกษาที่ดีมีวิชาความรู้และเป็นคนดีของสังคม
ญาติพี่น้องตลอดจนกัลยาณมิตรทั้งหลายที่คอยช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ด้วยดี ให้สามารถดำรงชีวิตประกอบกิจทั้งหลายได้อย่างไม่ขาดเขิน ไม่ขาดตกบกพร่อง
ผู้ที่คอยช่วยเหลือสงเคราะห์ด้วยปัจจัยสี่ ช่วยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
หากผู้ใดก็ตาม ไม่มีความรู้สึกสำนึกบุญคุณของบุคคลผู้มีคุณดังกล่าวนั้น ไม่ทำคุณตอบแทนเมื่อมีโอกาสอันสามารถกระทำได้ ชีวิตของเขาย่อมปราศจากความเจริญ ทุกก้าวเดินย่อมมุ่งหน้าสู่ความเสื่อม กลายเป็นคนเนรคุณที่สังคมไม่ต้องการ
ประโยชน์ทั้งหลายที่ปรารถนาของบุคคลเช่นนั้น ย่อมเสื่อมสิ้นไป ไม่เกิดขึ้น และไม่เจริญงอกงามได้ เพราะมิใช่วิสัยที่ประโยชน์จะเกิดแก่บุคคลผู้เนรคุณไม่รู้คุณคน
ดังนั้น เราท่านทั้งหลาย เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาสามารถคิดอ่านการทั้งปวงได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การเป็นผู้กตัญญูรู้คุณคน รู้ว่าใครเป็นผู้มีพระคุณ ระลึกถึงคุณของผู้นั้นอยู่เสมอ และหาโอกาสตอบแทนบุญคุณเมื่อมีโอกาสที่สามารถกระทำได้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนดี และคู่ควรแก่ประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ตลอดจนถึงประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา