
กุมฺภูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา
นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา
โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน
ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยา.
[คำอ่าน]
กุม-พู-ปะ-มัง, กา-ยะ-มิ-มัง, วิ-ทิด-ตะ-วา
นะ-คะ-รู-ปะ-มัง, จิด-ตะ-มิ-ทัง, ถะ-เกด-ตะ-วา
โย-เท-ถะ, มา-รัง, ปัน-ยา-วุ-เท-นะ
ชิ-ตัน-จะ, รัก-เข, อะ-นิ-เว-สะ-โน, สิ-ยา
[คำแปล]
“บุคคลรู้กายนี้ที่เปรียบด้วยหม้อ กั้นจิตที่เปรียบด้วยเมืองนี้แล้ว พึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญา และพึงรักษาแนวที่ชนะไว้ ไม่พึง ยับยั้งอยู่.”
(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/20.
ร่างกายของคนเรานี้ เป็นที่ชุมนุมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ เป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เปรียบเสมือนหม้อดิน คือไม่สามารถทนทานอยู่ได้นาน ไม่นานก็ย่อมแตกสลายไปตามกาลเวลา
จิตของคนเราเปรียบเสมือนเมืองเมืองหนึ่งที่ถูกข้าศึกศัตรูคือกิเลสคอยรุกรานราวีอยู่มิได้หยุดหย่อน
บุคคลพึงใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้จักร่างกายตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีอันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่นานย่อมแตกสลายไปตามธรรมชาติ เหมือนหม้อดินที่ไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้นาน ไม่นานย่อมแตกสลายไปตามเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นต่าง ๆ ตามความปรารถนาได้ พิจารณาได้ดังนี้แล้ว พึงคลายความกำหนัดพอใจในร่างกายทั้งของตนเองและผู้อื่น ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ตามเห็นว่าสวยว่างาม
อีกอย่างหนึ่ง ทหารย่อมปกป้องรักษาเมืองของตนด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์นานาประการ เพื่อป้องกันมิให้อริราชศัตรูรุกรานได้ฉันใด บุคคลพึงใช้อาวุธคือปัญญาปกป้องคุ้มครองจิตที่เปรียบเสมือนนครให้รอดพ้นจากข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายที่คอยรุกรานอยู่ตลอดเวลาฉันนั้น
กิเลสคือราคะ โทสะ โมหะ ย่อมคอยรุกรานราวีจิตของคนทั้งหลายอย่างไม่หยุดหย่อน จ้องที่จะเข้ายึดนครคือจิตนี้อยู่ตลอดเวลา หาโอกาสที่จะเข้าชักนำบงการจิตให้กระทำความชั่วนานาประการตามอำนาจของตนอยู่เสมอ ดังนั้น บุคคลทั้งหลายพึงใช้อาวุธคือปัญญาคุ้มครองจิตนั้นอย่างแข็งขัน อย่าให้ศัตรูคือกิเลสรุกรานได้
การที่บุคคลจะมีอาวุธคือปัญญาที่กล้าแกร่งพอที่จะต้านทานศัตรูคือกิเลสได้นั้น จะต้องเจริญวิปัสสนาอยู่เป็นประจำ เพื่อสร้างวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น อบรมปัญญาให้เฉียบคม มีกำลังพอที่จะต่อกรกับศัตรูคือกิเลสทั้งหลาย และพึงรักษาแนวรบระหว่างนครคือจิตกับศัตรูคือกิเลสนี้ไว้ให้ดี ไม่ชะล่าใจ คืออย่าละทิ้งความเพียรในการเจริญวิปัสสนาเสียในระหว่าง พึงทำต่อไปไม่หยุด จนกว่าจะกำจัดศัตรูคือกิเลสเหล่านั้นได้อย่างหมดสิ้นเด็ดขาด จึงจะเบาใจได้.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา