ใจสั่งมา

จิตของท่านย่อมเดือดร้อนเพราะเข้าใจผิด ท่านจงเว้นเครื่องหมาย ฯลฯ

สญฺญาย วิปรีเยสา     จิตฺตนฺเต ปริฑยฺหติ
นิมิตฺตํ ปริวชฺเชหิ     สุภํ ราคูปสญฺหิตํ.

[คำอ่าน]

สัน-ยา-ยะ, วิ-ปะ-รี-เย-สา…..จิด-ตัน-เต, ปะ-ริ-ไท-หะ-ติ
นิ-มิด-ตัง, ปะ-ริ-วัด-เช-หิ…..สุ-พัง, รา-คู-ปะ-สัน-หิ-ตัง

[คำแปล]

“จิตของท่านย่อมเดือดร้อนเพราะเข้าใจผิด ท่านจงเว้นเครื่องหมายที่สวยงามประกอบด้วยความรัก.”

(อานนฺท) สํ.ส. 15/277.

จิตของคนเราเดือดร้อนดิ้นรนอยู่ทุกวันนี้ มีสาเหตุมาจากราคะคือความใคร่ความยินดีในสิ่งที่สวยงาม น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิดหลงคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สวยงามน่าใคร่น่าพอใจ

ความเข้าใจผิดเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอวิชชาคือความไม่รู้ คือไม่รู้จักสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจความเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์ของสรรพสิ่ง คือทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามอำนาจอนิจจตา ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ คือไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้

เมื่อบุคคลมีความเข้าใจผิด เห็นสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นสุข และมีตัวตน จึงหลงยินดีในสิ่งที่ตนคิดว่าน่าใคร่น่าพอใจ และหลงยินร้ายในสิ่งที่ตนคิดว่าไม่น่าพอใจ เมื่อยินดีในสิ่งที่น่าพอใจ ก็กระเสือกกะสนดิ้นรนเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาครอบครอง เมื่อยินร้ายในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็กระเสือกกะสนดิ้นรนเพื่อให้พ้นไปจากสิ่งนั้นหรือสภาพนั้น ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นล้วนเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งสิ้น

พุทธศาสนาสอนให้พุทธศาสนิกชนพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้เห็นตามความเป็นจริง คือทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้สวยงามอะไรเลย เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามธรรมดาของโลก เป็นสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่มีตัวตนที่แท้จริง

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะสามารถเพิกถอนความตามเห็นสิ่งทั้งปวงว่าสวยว่างามเสียได้ เพิกถอนราคะคือความกำหนดยินดีในสิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจเสียได้ เมื่อทำได้ดังนี้ ก็จะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์อันเกิดเพราะราคะเสียได้.