ใจสั่งมา

ผู้มีจิตอันไม่ชุ่มด้วยราคะ มีใจอันโทสะไม่กระทบแล้ว มีบุญและบาป ฯลฯ

อนวสฺสุตจิตฺตสฺส     อนนฺวาหตเจตโส
ปุญฺญปาปปหีนสฺส     นตฺถิ ชาครโต ภยํ.

[คำอ่าน]

อะ-นะ-วัด-สุ-ตะ-จิด-ตัด-สะ…..อะ-นัน-วา-หะ-ตะ-เจ-ตะ-โส
ปุน-ยะ-ปา-ปะ-ปะ-หี-นัด-สะ…..นัด-ถิ, ชา-คะ-ระ-โต, พะ-ยัง

[คำแปล]

“ผู้มีจิตอันไม่ชุ่มด้วยราคะ มีใจอันโทสะไม่กระทบแล้ว มีบุญและบาปอันละได้แล้ว ตื่นอยู่ ย่อมไม่มีภัย.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/20.

คำว่า “ผู้มีจิตอันไม่ชุ่มด้วยราคะ มีใจอันโทสะไม่กระทบแล้ว มีบุญและบาปอันละได้แล้ว ตื่นอยู่” หมายถึง พระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ตัดราคะได้เด็ดขาด ชำระโทสะได้หมดจด เป็นผู้ไม่ต้องเกิดในภพหน้าต่อไปอีก บุญและบาปจึงไม่สามารถตามไปให้ผลแก่ท่านในภพใหม่ได้อีกแล้ว เป็นผู้ตื่น เพราะท่านตื่นจากอวิชชาคือความไม่รู้ในอริยสัจ 4 แล้ว

คำว่า “ไม่มีภัย” หมายถึง ไม่มีภัยคือกิเลสคอยกระทบจิต ไม่มีภัยคือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป

ภัยคือกิเลสอันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านี้เป็นภัยใหญ่ที่เป็นสาเหตุให้สรรพสัตว์ต้องทำบาปทำกรรมต่าง ๆ นานา และต้องประสบกับผลกรรมที่ตนทำเองเหล่านั้น ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่จบสิ้น ต้องประสบกับทุกข์ใหญ่สิ้นกาลนาน ไม่สามารถหลุดพ้นไปได้โดยง่าย

หนทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากภัยใหญ่นั้นได้ คือการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ 8 ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถเข้าถึงพระนิพพานได้เท่านั้น จึงจะสามารถกำจัดภัยใหญ่คือกิเลส หลุดพ้นจากภัยใหญ่คือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้

ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พึงหมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กระทำตนให้เป็นผู้มีจิตอันไม่ชุ่มด้วยราคะ มีใจอันโทสะไม่กระทบ ละบุญและบาปเสียให้ได้ เป็นผู้ตื่น นำตนให้พ้นจากภัยคือการเวียนว่ายตายเกิดเสียโดยเร็วเถิด.