ใจสั่งมา

ภูเขาหินแท่งทึบ ไม่สั่นสะเทือนเพราะลม ฉันใด บัณฑิตย่อมไม่ ฯลฯ

เสโล ยถา เอกฆโน     วาเตน น สมีรติ
เอวํ นินฺทาปสํสาสุ     น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา.

[คำอ่าน]

เส-โล, ยะ-ถา, เอ-กะ-คะ-โน…..วา-เต-นะ, นะ, สะ-มี-ระ-ติ
เอ-วัง, นิน-ทา-ปะ-สัง-สา-สุ…..นะ, สะ-มิน-ชัน-ติ, ปัน-ทิ-ตา

[คำแปล]

“ภูเขาหินแท่งทึบ ไม่สั่นสะเทือนเพราะลม ฉันใด บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหว ในนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/25.

คำนินทาและคำสรรเสริญ เป็นของคู่โลก เป็นธรรมประจำโลก จัดอยู่ในโลกธรรม 8 ประการ อันประกอบด้วย มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์

คำนินทาและคำสรรเสริญ ที่จัดว่าเป็นของคู่โลกนั้น เพราะทุกคนต้องประสบพบเจอ ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่ไม่ถูกนินทา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต คนไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก” แม้แต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ยังมิวายที่จะถูกคนพาลนินทา และก็ไม่มีใครเลยที่จะไม่มีคนสรรเสริญ แม้แต่เหล่าคนพาลทั้งหลายเขาก็ยังสรรเสริญคนพาลด้วยกันเอง

เมื่อเข้าใจได้ดังนี้ บัณฑิตชนทั้งหลาย ย่อมจะไม่หวั่นไหวโอนเอียงเพราะคำนินทาและสรรเสริญเหล่านั้น มีแต่จะเก็บเอาคำนินทาและสรรเสริญเหล่านั้นมาพิจารณาและใช้ประโยชน์จากมัน เพราะทั้งคำนินทาและสรรเสริญ บางอย่างก็เป็นจริง บางอย่างก็เป็นเท็จ

เมื่อถูกคนอื่นนินทา ผู้เป็นบัณฑิตย่อมไม่โกรธเคือง แต่จะมาพิจารณาว่า สิ่งที่เขานินทานั้น เป็นจริงหรือไม่ หากเป็นจริงดังเขานินทา ก็ปรับปรุงตนเองเสียให้ดีขึ้น หากไม่เป็นจริงดังที่เขานินทา ก็นิ่งเฉยเสีย ไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดร้อน เพราะนั่นไม่ใช่ข้อบกพร่องของตน หากแต่เป็นข้อบกพร่องของคนที่นินทานั้นเอง หากมีโอกาสก็ชี้แจงให้คนอื่นได้ทราบว่าเรื่องที่เขานินทานั้นไม่เป็นความจริง แต่ไม่ใช่ทำไปเพราะความเดือดเนื้อร้อนใจ แต่เพียงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้น

เมื่อถูกคนอื่นสรรเสริญ ผู้เป็นบัณฑิตย่อมไม่หลงระเริงไปกับคำสรรเสริญนั้น แต่จะมาพิจารณาว่า สิ่งที่เขาสรรเสริญนั้น เป็นจริงหรือไม่ หากเป็นจริงดังคำสรรเสริญของเขา ก็รักษาความดีอันเป็นที่สรรเสริญนั้นไว้ แต่มิได้กระหยิ่มยิ้มย่อง หากไม่เป็นจริงก็นิ่งเฉยเสีย หากมีโอกาสก็ชี้แจงว่าสิ่งที่เขาสรรเสริญตนนั้นไม่จริง เพื่อไม่ให้คนอื่นเข้าใจผิด

วิธีจัดการกับคำนินทาและคำสรรเสริญที่ดีที่สุดคือ รับรู้แล้วเฉยเสีย อย่าไปยินดียินร้าย.