ใจสั่งมา

จิตนี้ถูกยกขึ้นจากอาลัยคือกามคุณ เพื่อละที่ตั้งแห่งมาร ย่อมดิ้นรน ฯลฯ

วาริโชว ถเล ขิตฺโต     โอกโมกตอุพฺพโต
ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ     มารเธยฺยํ ปหาตเว.

[คำอ่าน]

วา-ริ-โช-วะ, ถะ-เล, จิด-ตัง.….โอ-กะ-โม-กะ-ตะ-อุบ-พะ-โต
ปะ-ริ-ผัน-ทะ-ติ-ทัง, จิด-ตัง…..มา-ระ-ไท-ยัง, ปะ-หา-ตะ-เว

[คำแปล]

“จิตนี้ถูกยกขึ้นจากอาลัยคือกามคุณ เพื่อละที่ตั้งแห่งมาร ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาถูกจับขึ้นจากน้ำโยนไปบนบกฉะนั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/19.

การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นวิถีที่จะเข้าสู่ความพ้นทุกข์ เป็นวิธีเพื่อยกจิตขึ้นจากกามคุณ เป็นแนวทางเพื่อความเป็นไทจากอำนาจของมารคือกิเลสตัณหา ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างมาก

โดยธรรมชาติ จิตของคนเราคลุกคลีอยู่กับกามคุณ ถูกกามคุณหล่อเลี้ยงมาแต่กำเนิด จนทำให้จิตคุ้นเคยกับกามคุณ เหมือนบุตรธิดาคุ้นเคยกับมารดาบิดาผู้ให้กำเนิด เหมือนเหล่ามัจฉาปลาน้อยใหญ่ที่คุ้นเคยกับน้ำ

ธรรมดาปลาเกิดอยู่ในน้ำ อาศัยน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต หากถูกจับขึ้นบนบกย่อมทนอยู่ไม่ได้ ย่อมตะเกียกตะกายดิ้นรนหาน้ำ เพราะถ้าปลาขาดน้ำเสียแล้ว ย่อมไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

จิตของคนเราก็ไม่ต่างกัน คุ้นเคยกับกามคุณมาตั้งแต่เกิด หากบุคคลพยายามที่จะปฏิบัติกรรมฐานเพื่อยกจิตขึ้นจากกามคุณนั้น ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่จิตจะดิ้นรน ตะเกียกตะกายเพื่อที่จะกลับเข้าหากามคุณที่คุ้นเคยอีก ประหนึ่งว่าถ้าขาดกามคุณไปเสียแล้วจะต้องตายลงตรงนั้น

แต่ปลากับน้ำและจิตกับกามคุณนั้นมีข้อแตกต่างกันอยู่ คือถ้าปลาขาดน้ำแล้วจะต้องตายอย่างแน่นอน แต่จิตขาดกามคุณนั้น ไม่ถึงตาย

ดังนั้น หากบุคคลปฏิบัติกรรมฐานแล้วจิตจะดิ้นรนกระสับกระส่ายเหมือนจะเป็นจะตายก็อย่าได้กังวลไป นั่นเป็นธรรมดาของจิตที่ถูกกามคุณหล่อเลี้ยงมานาน ย่อมกระเสือกกะสนดิ้นรนหากามคุณเป็นเรื่องปกติ

พึงใช้ความเพียรและความอดทนอดกลั้นฝืนธรรมชาติของจิตนั้น ตั้งใจปฏิบัติกรรมฐานอย่างแน่วแน่มั่นคงไม่หวั่นไหว ในเบื้องต้นอาจจะฝืนอยู่บ้าง แต่ไม่นาน เมื่อจิตห่างจากกามคุณแล้ว ความคุ้นชินกับกามคุณลดลงแล้ว การปฏิบัติกรรมฐานก็จะง่ายขึ้น ราบรื่นขึ้น ปฏิบัติกรรมฐานได้ดีขึ้น และจะสามารถเข้าถึงความสำเร็จผลของการปฏิบัติกรรมฐานได้ในที่สุด.