
อปฺปมาทรตา โหถ…………………สจิตฺตมนุรกฺขถ
ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ……ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร.
[คำอ่าน]
อับ-ปะ-มา-ทะ-ระ-ตา, โห-ถะ……..สะ-จิด-ตะ-มะ-นุ-รัก-ขะ-ถะ
ทุก-คา, อุด-ทะ-ระ-ถัด-ตา-นัง.…ปัง-เก, สัน-โน-วะ, กุน-ชะ-โร
[คำแปล]
“ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท คอยรักษาจิตของตน จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างที่ตกหล่มถอนตนขึ้นฉะนั้น.”
(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/58.
ความประมาท คือความขาดสติ ลุ่มหลงมัวเมา ความไม่ประมาท คือการเป็นอยู่อย่างมีสติ มีสติกำกับการทำ พูด คิด ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลาย
มนุษย์ทั้งหลาย ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ มีความลุ่มหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คิดว่าเป็นของจริง เป็นสิ่งที่สร้างความสุขได้อย่างแท้จริง ก็ยึดติดในสิ่งเหล่านั้น แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็กลับกลายเป็นทุกข์หนักขึ้นมา
เมื่อเสื่อมลาภก็เป็นทุกข์ โหยหา อยากได้มาครอบครองอีกครั้ง เมื่อเสื่อมยศก็เป็นทุกข์ โหยหา อยากได้มาครอบครองอีกครั้ง เมื่อเสื่อมสรรเสริญก็เป็นทุกข์ เมื่อความสุขลดลงก็เป็นทุกข์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลก สิ่งที่ไม่ยั่งยืน สิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
บ้างก็ลุ่มหลงมัวเมาในชีวิต คิดว่าชีวิตนี้จะยืนยาว บ้างก็ลุ่มหลงมัวเมาในวัย คิดว่าตัวเองจะไม่มีวันแก่เฒ่า จะคงความเป็นหนุ่มเป็นสาวไว้ได้แม้อายุจะมากก็ตาม บ้างก็ลุ่มหลงมัวเมาในสุขภาพ คิดว่าตัวเองจะไม่มีวันเจ็บไข้ได้ป่วย คิดว่าตัวเองจะสุขภาพดีแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา บ้างก็ลุ่มหลงในภพ ในภาวะที่เป็นอยู่ ยินดีในการเกิดมาใช้ชีวิต
สิ่งลวงโลกทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้มนุษย์ยึดติดอยู่ในโลก ติดอยู่ในหล่มของกิเลสตัณหาที่หลอกตาหลอกใจให้หลงงมงาย จึงไม่มีความคิดที่จะสลัดออกจากภพจากชาติ คือไม่มีความคิดที่จะทำลายภพทำลายชาติ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดอีก เพราะมองไม่เห็นความจริงที่ว่า การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์ร่ำไป
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พุทธสาวกทั้งหลายยินดีในความไม่ประมาท คือใช้ชีวิตด้วยสติ คอยรักษาจิตของตน ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลายเหล่านั้น และพยายามถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสตัณหา ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ดำเนินตามวิถีแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อทำลายที่สุดแห่งทุกข์ ถึงสันติสุขคือพระนิพพาน จึงจะได้ชื่อว่า ถอนตนขึ้นจากหล่มเสียได้

เราทั้งหลายใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ด้วยความประมาท ก็ไม่ต่างอะไรกับช้างที่ติดหล่ม ช้างที่ติดหล่มนั้น ยังดิ้นรนพยายามที่จะขึ้นจากหล่มเสียให้ได้ แต่มนุษย์จำนวนมาก แม้ติดอยู่ในหล่มของกิเลสตัณหาก็ยังไม่รู้ตัว จึงไม่พยายามที่จะพาตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสตัณหานี้ เพราะถูกอวิชชาครอบงำ ปิดบังดวงตาคือปัญญาไม่ให้เห็นความจริง
เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เราท่านทั้งหลาย พึงใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด เพื่อจะถอนตนเองขึ้นจากหล่มคือกิเลสตัณหาที่ดูดกลืนสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลานี้เสียให้ได้เถิด จึงจะได้ชื่อว่า ดำเนินตามหลักธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา