ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท ฯลฯ

อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ     ปมาเท ภยทสฺสิ วา
สญฺโญชนํ อณุํ ถูลํ     ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ.

[คำอ่าน]

อับ-ปะ-มา-ทะ-ระ-โต, พิก-ขุ……….ปะ-มา-เท, พะ-ยะ-ทัด-สิ, วา
สัน-โย-ชะ-นัง, อะ-นุง, ถู-ลัง………….ทะ-หัง, อัก-คี-วะ, คัด-ฉะ-ติ

[คำแปล]

“ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์น้อยใหญ่ไป เหมือนไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไปฉะนั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/19.

ความประมาท คือความขาดสติ ลุ่มหลงมัวเมา ถือเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่สำหรับการดำรงชีวิต และเป็นภัยมหันต์ต่อการบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์

การที่มนุษย์ทั้งหลายทั้งชายและหญิง รวมไปถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่รู้จบสิ้น ก็เพราะความประมาทนี้เป็นตัวการสำคัญ คือมัวประมาทลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หลงคิดว่าโลกธรรมเหล่านั้นจะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ตนได้อย่างแท้จริง จึงลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในสิ่งลวงโลกเหล่านั้น ไม่แสวงหาหนทางที่จะหลุดพ้นจากโลกอันเต็มไปด้วยทุกข์นี้ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ไม่สามารถหลุดพ้นไปได้

พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเหล่าสาวกทั้งหลายให้เห็นภัยในความประมาท คือเห็นภัยใหญ่ในวัฏสงสารอันจะเกิดขึ้นจากความเป็นผู้ประมาทลุ่มหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข ดังกล่าว เกิดความขยาดหวาดกลัวต่อภัยอันจะเกิดจากความประมาทนั้น แล้วหันมายินดีในความไม่ประมาท ปรารภความเพียรในการบำเพ็ญสมณธรรมอันจะนำให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง

เมื่อสาธุชนทั้งหลายยินดีในความไม่ประมาท ปรารภความเพียรบำเพ็ญสมณธรรมอยู่เนืองนิตย์ ย่อมจะสามารถทำลายสังโยชน์กล่าวคือกิเลสอันผูกสรรพสัตว์ไว้กับวัฏฏทุกข์ได้ทีละน้อย จนสามารถทำลายให้หมดไปได้ในที่สุด

สังโยชน์ดังกล่าวนั้น มี 10 ประการ ประกอบด้วย

  1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
  2. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
  3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต
  4. กามราคะ ความกำหนัดในกาม
  5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
  6. รูปราคะ ความปรารถนาในรูปภพ
  7. อรูปราคะ ความปรารถนาในอรูปภพ
  8. มานะ ความสำคัญตน
  9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
  10. อวิชชา ความไม่รู้จริง

สังโยชน์ทั้ง 10 ประการดังกล่าวนี้ เป็นกิเลสที่ผูกมัดสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่กับวัฏฏทุกข์ คือทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ อย่างไม่จบสิ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สรรพสัตว์ไม่สามารถทำลายหรือข้ามพ้นสังโยชน์ทั้ง 10 ประการนี้ได้ ก็เพราะความประมาทขาดสติลุ่มหลงมัวเมานั่นเอง

เมื่อสาธุชนทั้งหลายพิจารณาเห็นภัยในความประมาท ยินดีในความไม่ประมาท เริ่มปรารภความเพียรเนืองนิตย์ไม่หยุดหย่อน เมื่อความเพียรถึงที่บารมีเต็มเปี่ยม ก็จะสามารถทำลายสังโยชน์เหล่านั้นได้ทีละน้อย และทำลายให้หมดสิ้นไปได้ในที่สุด เมื่อนั้น ก็จะเข้าถึงภาวะที่หมดสิ้นกองทุกข์ ดับเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเสียได้ เหมือนไฟที่ไหม้เชื้อไปทีละน้อย จนสุดท้ายเชื้อไฟก็หมดไป ไม่มีสิ่งใดหลงเหลือให้เผาไหม้อีก.