อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ “ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ”

อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ

[คำอ่าน : อัด-ตา, สุ-ทัน-โต, ปุ-ริ-สัด-สะ, โช-ติ]

“ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ”

(สํ.ส. 15/248)

ธรรมดามนุษย์เราฝึกสัตว์ต่าง ๆ มีช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ก็เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นเชื่อง ใช้งานได้ ไม่พยศ ควบคุมได้ อยู่ในอำนาจของเรา

การฝึกตนก็เช่นกัน เราฝึกตน คือฝึกจิตของเราให้ละพยศ ไม่ให้หลงมัวเมาอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่ให้ถูกกิเลสตัณหาครอบงำได้

ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาน้้น เรามุ่งฝึกตนเพื่อให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน ทั้งหลายทั้งปวงได้ และให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดี อันจะเป็นตัวนำเราไปสู่สุคติภูมิ และบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา นั่นคือพระนิพพาน

ที่ว่า “ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ” นั่นก็หมายความว่า เมื่อเราสามารถฝึกตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่หลงมัวเมาในอำนาจของกิเลสตัณหา ตนที่ฝึกดีแล้วนี่แหละ จะนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเจริญ ประดุจแสงสว่างที่ส่องทางให้เราเดินฉะนั้น

เพราะเมื่อเราฝึกตนตามแนวทางแห่งศีลธรรมอันดีงาม ย่อมจะเกิดปัญญาขึ้นมา และตัวปัญญานี่เองคือแสงสว่างที่ยอดเยี่ยมในโลก เมื่อฝึกตนด้วยดีมีปัญญาก่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราย่อมจะรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ รู้ว่าทางไหนควรเดิน ทางไหนไม่ควรเดิน

เปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางวัน มีแสงสว่างทำให้มองเห็นโดยทั่วไป ย่อมสามารถรู้ได้ว่าตรงไหนเดินได้ ตรงไหนเดินไม่ได้ ทางไหนดี ทางไหนไม่ดี

หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางคืน แต่มีไฟฉายอยู่ในมือ ย่อมสามารถใช้ไฟฉายส่องเพื่อสำรวจตรวจตราดูว่าทางไหนควรเดินทางไหนไม่ควรเดิน และสามารถเดินไปได้อย่างถูกทางและปลอดภัย

อันนี้เป็นลักษณะของคนที่ฝึกตนจนเกิดปัญญาเป็นแสงสว่างทำทางชีวิต ย่อมนำพาชีวิตของตนเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้.