
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.
[คำอ่าน : อัด-ตา, หิ, อัด-ตะ-โน, นา-โถ]
“ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน”
(ขุ.ธ. 25/36, 66)
ว่าด้วยที่พึ่งโดยทั่วไป
คนเราทุกคนเกิดมาบนโลกใบนี้ ย่อมต้องการที่พึ่งพาอาศัยด้วยกันทั้งนั้น แรกเกิดเราพึ่งพ่อแม่ในการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ เมื่อถึงวัยอันควรเราพึ่งครูอาจารย์สั่งสอนวิชาความรู้ให้ เราพึ่งพาเพื่อนฝูงในการช่วยเหลือกิจต่าง ๆ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า เราเกิดมาแล้วต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ด้วยความราบรื่น
หากแต่ว่า ที่พึ่งอื่น หรือที่พึ่งภายนอก อันได้แก่ บุคคลอื่นนอกเหนือจากตัวเราเอง ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้เราได้ตลอดไป และไม่ใช่ที่พึ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน เราไม่สามารถพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่นได้ตลอดชีวิต เพราะทุกคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
ว่าด้วยที่พึ่งอันประเสริฐ
ตามหลักพระพุทธศาสนา ที่พึ่งอันประเสริฐนั้นคือตัวเราเอง ไม่ใช่ผู้อื่น คนอื่นไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ไม่ว่าจะมั่งมีร่ำรวยแค่ไหน ก็พึ่งพาอาศัยได้ไม่เท่าตัวเราเอง
คำว่า “ตน” หรือตัวเรานี้ แบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนกาย และส่วนจิต ทั้งสองส่วนนี้ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ส่วนกาย ต้องพึ่งพาอาศัยส่วนของจิตในการสั่งการ ไม่ว่าจะทำ พูด คิด ประกอบกิจใด ๆ ก็แล้วแต่ ส่วนกายต้องอาศัยส่วนจิตในการสั่งการทั้งสิ้น

ส่วนจิต ก็ต้องอาศัยส่วนกายในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง เพราะจิตไม่สามารถทำสิ่งใดได้เอง เป็นแต่เพียงสั่งการเท่านั้น ส่วนผู้กระทำคือกาย ที่คอยทำทุกสิ่งทุกอย่างตามคำสั่งการของจิต
จะเห็นได้ว่า กาย กับ จิต ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันตลอดเวลา จึงจะสามารถทำกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จประโยชน์ได้ อันนี้ว่าโดยพื้นฐาน
ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน
สาระสำคัญของคำว่า “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน” นั้น ก็สืบเนื่องมาจาก สิ่งที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ “พระนิพพาน” พุทธศาสนาสอนให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตนเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน
ซึ่งการขจัดขัดเกลากิเลสก็ดี การที่จะไปให้ถึงพระนิพพานก็ดี เป็น “ปัจจัตตัง” คือเป็นเรื่องเฉพาะตน นั่นก็คือ ไม่มีใครสามารถทำแทนใครได้ ทุกคนต้องปฏิบัติเอง จึงจะได้ผลเอง
การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้ง 3 ประการ เราต้องทำด้วยตนเอง นั่นคือเราต้องพึ่งพาตนเองในการบำเพ็ญบารมี พึ่งคนอื่นไม่ได้เลยนั่นเองครับ
และนี่ก็คือความหมายของคำว่า “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน”
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา