ผู้อื่นทำความดีให้ ทำประโยชน์ให้ก่อน แต่ไม่สำนึกถึง (บุญคุณ) ฯลฯ

โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ     กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ
ปจฺฉา กิจฺเจ สมุปฺปนฺเน     กตฺตารํ นาธิคจฺฉติ.

[คำอ่าน]

โย, ปุบ-เพ, กะ-ตะ-กัน-ละ-ยา-โน…..กะ-ตัด-โถ, นา-วะ-พุด-ชะ-ติ
ปัด-ฉา, กิด-เจ, สะ-มุบ-ปัน-เน…..กัด-ตา-รัง, นา-ทิ-คัด-ฉะ-ติ

[คำแปล]

“ผู้อื่นทำความดีให้ ทำประโยชน์ให้ก่อน แต่ไม่สำนึกถึง (บุญคุณ) เมื่อมีกิจเกิดขึ้นภายหลัง จะหาผู้ช่วยทำไม่ได้.”

(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.เอก. 27/29.

คนที่ไม่รู้บุญคุณคน ไม่สำนึกบุญคุณที่บุพการีชนทั้งหลายทำให้ ไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ เรียกว่า คนอกตัญญู หรือ คนเนรคุณ คนประเภทนี้ บัณฑิตติเตียน ผู้คนทั้งหลายก็ไม่สรรเสริญ ซ้ำยังติฉินนินทาอีกด้วย

คนที่ไม่รู้บุญคุณคน ย่อมไม่มีใครอยากจะช่วยเหลืออีก เมื่อมีเรื่องราวเดือดเนื้อร้อนใจใด ๆ เกิดขึ้น ย่อมไม่มีคนอยากยื่นมือเข้าช่วย เพราะเห็นว่าเป็นการสูญเปล่า คือช่วยไปก็ไม่มีประโยชน์ เช่นนี้ คนเนรคุณนั้น ย่อมจะได้รับความเดือดร้อนลำบาก ยามทุกข์ยากย่อมจะไร้ที่พึ่ง เพราะผลแห่งความเนรคุณของตนนั่นเอง

ดังนั้น เราท่านทั้งหลาย พึงให้ความสำคัญต่อความเป็นคนกตัญญูกตเวที คือรู้จักบุญคุณคน และรู้จักตอบแทนบุญคุณ อย่าคิดแต่ได้ฝ่ายเดียว อย่าเห็นแก่ตัว และอย่าเป็นคนอกตัญญู

ต้องระลึกไว้เสมอว่า ผู้ใดมีบุญคุณต่อเรา ผู้ใดเคยช่วยเหลือเราในเวลาตกทุกข์ได้ยาก ในเวลาที่ลำบาก เราได้รับน้ำใจไมตรีจากใครบ้าง บุคคลผู้มีคุณเหล่านี้เราต้องจดจำไว้ในใจอย่าให้ลืม และทำไว้ในใจเสมอว่าสักวันหนึ่งจะต้องตอบแทนบุณคุณบุคคลเหล่านั้นให้ได้ และหากถึงคราวที่ผู้มีคุณเหล่านั้นเดือดร้อนไม่ว่ามากหรือน้อย อย่าได้ลังเลที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แม้จะช่วยได้ไม่มาก แต่ขอให้ได้ช่วยก็ยังดี อย่างน้อย เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที
หากทำได้ดังนี้ ผู้มีคุณเหล่านั้นย่อมจะเห็นความพยายามของเราในอันที่จะตอบแทนบุญคุณ และหากมีครั้งใดที่เราตกทุกข์ได้ยาก เขาเหล่านั้น ย่อมยินดีที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลืออีก ไม่รังเกียจรังงอน.