สัตว์ทั้งปวง หวาดต่ออาชญา ล้วนกลัวต่อความตาย ควรทำตน ฯลฯ

สพฺเพ ตสนฺติ ทณฺฑสฺส     สพฺเพ ภายนฺติ มจฺจุโน
อตฺตานํ อุปมํ กตฺวา     น หเนยฺย น ฆาตเย.

[คำอ่าน]

สับ-เพ, ตะ-สัน-ติ, ทัน-ทัด-สะ…..สับ-เพ, พา-ยัน-ติ, มัด-จุ-โน
อัด-ตา-นัง, อุ-ปะ-มัง, กัด-ตะ-วา…..นะ, หะ-ไน-ยะ, นะ, คา-ตะ-เย

[คำแปล]

“สัตว์ทั้งปวง หวาดต่ออาชญา ล้วนกลัวต่อความตาย ควรทำตนให้เป็นอุปมาแล้ว ไม่ฆ่าเขาเอง ไม่พึงให้ผู้อื่นฆ่า.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/32.

สัตว์โลกทั้งหลาย ย่อมรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น คือรักชีวิต อยากใช้ชีวิตด้วยความสงบสุข ไม่ปรารถนาการเบียดเบียนเข่นฆ่า ต้องการแต่ความเมตตาปรานีด้วยกันทั้งนั้น

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อแรกคือ ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป หรือที่เข้าใจกันง่าย ๆ ว่า งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็เพื่อให้มนุษย์ทั้งหลายเมตตาต่อกัน รวมไปถึงเมตตาต่อสรรพสัตว์ด้วยนั่นเอง

มาลองคิดดูสิว่า ตัวเราเองกลัวตายหรือไม่ กลัวการถูกลงโทษลงทัณฑ์หรือไม่ กลัวการเบียดเบียนเข่นฆ่าหรือไม่
แน่นอนว่า เราไม่ต้องการ เราไม่อยากตาย ไม่อยากถูกลงโทษลงทัณฑ์ ไม่อยากให้ใครมาเบียดเบียนเราทั้งทางกายและทางใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรทำตัวเองให้เป็นอุปมา คือเอาใจเขามาใส่ใจเรา พิจารณาให้เห็นว่า แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่อยากตาย ไม่อยากถูกเบียดเบียนชีวิต คนอื่นสัตว์อื่นก็ย่อมจะเหมือนกัน คือเขาก็ต้องรักตัวกลัวตายเหมือนกัน

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว ก็ให้งดเว้นเสียจากการเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่นสัตว์อื่น คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วยตนเอง และไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วย เพราะการใช้ให้คนอื่นทำ ก็มีผลเช่นเดียวกันกับการทำด้วยมือตัวเอง

เมื่อชาวโลกทั้งหลายคิดได้ดังนี้ ต่างคนต่างเข้าใจหลักข้อนี้ ก็จะไม่มีการเบียดเบียนเข่นฆ่ากัน เราก็ไม่เบียดเบียนเขา เขาก็ไม่เบียดเบียนเรา เราก็ไม่ฆ่าเขา เขาก็ไม่ฆ่าเรา ต่างฝ่ายต่างมีแต่ความเมตตากรุณาต่อกัน โลกของเราย่อมจะมีความสงบสุขเป็นอันมากอย่างแน่แท้.