ถ้าคนพึงทำบาป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อย ๆ ไม่ควรทำความพอใจ ฯลฯ

ปาปญฺเจ ปุริโส กยิรา     น นํ กยิรา ปุนปฺปุนํ
น ตมฺหิ ฉนฺทํ กริยาถ     ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย.

[คำอ่าน]

ปา-ปัน-เจ, ปุ-ริ-โส, กะ-ยิ-รา…..นะ, นัง, กะ-ยิ-รา, ปุ-นับ-ปุ-นัง
นะ, ตำ-หิ, ฉัน-ทัง, กะ-ริ-ยา-ถะ…..ทุก-โข, ปา-ปัด-สะ, อุด-จะ-โย

[คำแปล]

“ถ้าคนพึงทำบาป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อย ๆ ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/30.

บาป คือกรรมชั่วช้าลามก ได้แก่ ทุจริต ๓ ประการ คือ กายทุจริต การประพฤติชั่วทางกาย วจีทุจริต การประพฤติชั่วทางวาจา และมโนทุจริต การประพฤติชั่วทางใจ

บาป เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะบาปนั้นเป็นสิ่งที่มีวิบากเป็นทุกข์ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า วิบากในโลกนี้ ได้แก่ การได้รับการติฉินนินทา การได้รับโทษทางกฎหมาย เป็นต้น วิบากในโลกหน้า คือ หลังจากที่ตายไปแล้ว บาปนั้นจะพาไปเกิดในอบายภูมิ เช่น ตกนรก เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอสุรกาย ตามวิบากของบาปนั้น ๆ แม้เมื่อชดใจกรรมจนหมดและได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว หากยังมีเศษของกรรมนั้นเหลืออยู่ ก็จะทำให้มีชีวิตที่ไม่สุขสบาย ได้รับความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ เช่น ร่างกายไม่สมประกอบ ความเป็นอยู่ฝืดเคือง เป็นต้น

สำหรับพวกเราเหล่าปุถุชนทั้งหลาย เป็นผู้ที่ยังมีกิเลส ยังไม่สำเร็จอริยมรรคอริยผล ย่อมต้องมีบ้างที่เผลอใจไปทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง หนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่กรณี เป็นไปไม่ได้ที่ปุถุชนจะไม่ทำบาปใด ๆ เลยในชีวิต เพราะไม่ใช่วิสัยที่จะเป็นไปได้

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะเผลอไปทำบาปบ้าง เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นบาปแล้ว ก็อย่าได้ทำบาปนั้นบ่อย ๆ ต้องรู้จักหักห้ามใจ พลาดแล้วก็อย่าให้พลาดอีก เตือนตัวเองอยู่เสมอ อย่าให้หลงไปทำบาปบ่อย ๆ เพราะบาปที่ทำบ่อย ๆ ถึงจะเป็นบาปเล็กน้อย แต่ทำมากครั้งเข้าก็สะสมกลายเป็นบาปที่มีผลมากได้

อีกอย่างหนึ่ง อย่าปล่อยให้ใจยินดีในบาปนั้น ๆ เพราะความยินดีในบาป จะเป็นตัวส่งเสริมให้บาปที่ทำนั้นมีผลมากยิ่งขึ้น เมื่อทำบาปไปครั้งหนึ่ง แต่นึกยินดีในบาปนั้นอยู่บ่อย ๆ ก็เหมือนทำบาปนั้นอยู่บ่อย ๆ เช่นกัน

ทางที่ดี ควรพยายามหลีกเลี่ยงละเว้นการทำบาปทั้งหลายด้วยวิรัติ 3 ประการ คือ

สัมปัตตวิรัติ ละเว้นบาปที่ประสบซึ่งหน้า คือเมื่อมีเหตุให้ต้องกระทำบาป ต้องตั้งสติให้ทัน ยับยั้งการกระทำบาปนั้นให้ได้ แม้มีโอกาสทำบาป ก็ต้องหักห้ามใจไม่ให้ทำบาปนั้น

สมาทานวิรัติ ละเว้นจากบาปด้วยการตั้งใจไว้ก่อน หมายถึง การตั้งใจไว้ล่วงหน้าหรือให้คำปฏิญาณไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่ทำบาป เช่น การสมาทานศีล 5 ศีล 8 เป็นต้น ถือเป็นการตั้งใจหรือให้คำมั่นไว้ว่าจะไม่ทำบาปนั้น ๆ

สมุจเฉทวิรัติ ละเว้นจากบาปอย่างเด็ดขาด หมายถึง การเว้นจากบาปของพระอริยเจ้า คือผู้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ซึ่งปุถุชนอย่างเราท่านทั้งหลายไม่สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหากจะพยายามทำให้ได้ ด้วยการหมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อการบรรลุอริยมรรคอริยผล ตั้งแต่ระดับต่ำสุด จนถึงระดับสูงสุด เพื่อที่จะละเว้นจากการทำบาปได้อย่างเด็ดขาดที่เรียกว่า สมุจเฉทวิรัติ.