
โกธํ ชเห วิปฺปชเหยฺย มานํ
สญฺโญชนํ สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตํ นามรูปสฺมิมสชฺชมานํ
อกิญฺจนํ นานุปตนฺติ สงฺคา.
[คำอ่าน]
โก-ทัง, ชะ-เห, วิบ-ปะ-ชะ-ไห-ยะ, มา-นัง
สัน-โย-ชะ-นัง, สับ-พะ-มะ-ติก-กะ-ไม-ยะ
ตัง, นา-มะ-รู-ปัด-สะ-มิ-มะ-สัด-ชะ-มา-นัง
อะ-กิน-จะ-นัง, นา-นุ-ปะ-ตัน-ติ, สัง-คา
[คำแปล]
“บุคคลพึงละความโกรธ พึงเลิกถือตัว พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง (เพราะ) เครื่องข้องทั้งหลาย ย่อมไม่ติดตามผู้ไม่ข้องในนามรูป ไม่มีความกังวลนั้น.”
(พุทฺธ) สํ.ส. 15/350.
ความโกรธ เป็นกิเลสที่ทำให้จิตใจกำเริบเร่าร้อน หงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่พอใจ อยากจะทำลายทำร้ายบุคคลผู้ที่ทำให้โกรธ
ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมครอบงำจิตใจของสรรพสัตว์ให้กระทำตามอำนาจของมัน ทำให้ด่าเขาบ้าง ทำให้ทำร้ายเบียดเบียนเขาบ้าง ทำให้ฆ่าเขาบ้าง เรียกได้ว่า ความโกรธนั้นไม่มีดีเอาเสียเลย
แต่กระนั้น ความโกรธก็เป็นเหมือนเพื่อนสนิทของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มันจะอยู่กับเรา อยู่ในใจของเรา รอเวลาแสดงตัวเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่น่าปรารถนามากระทบ และบัญชาให้เราทำตามอำนาจของมัน แล้วแต่มันจะสั่งการให้ทำ
ความถือตัวก็เป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เป็นเหมือนเพื่อนสนิทของสรรพสัตว์ มันจะนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสรรพสัตว์ ทำให้เกิดความสำคัญตนต่าง ๆ นานา สำคัญตนว่าดีกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง แย่กว่าเขาบ้าง ทำให้เกิดความดื้อดังอวดดี ทำให้ทำกรรมอันชั่วช้าลามกนานาประการได้
ส่วนสังโยชน์นั้น เป็นกิเลสที่ผูกมัดใจสรรพสัตว์ไว้กับทุกข์ในวัฏสงสาร สรรพสัตว์ไม่สามารถสลัดตนให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ก็เพราะสังโยชน์นี้เป็นตัวการ สังโยชน์ มี 10 ประการ คือ
- สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
- วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
- สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต
- กามราคะ ความกำหนัดในกาม
- ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
- รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน
- อรูปราคะ ความติดในใจอารมณ์แห่งอรูปฌาน
- มานะ ความสำคัญตน
- อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
- อวิชชา ความไม่รู้จริง
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกละความโกรธ ความถือตัว และสังโยชน์ทั้งหลายเสียให้ได้ เมื่อทำได้ดังนี้แล้วก็จะไม่ติดข้องในสังสารวัฏ สามารถทำลายวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา