บุคคลพึงละความโกรธ พึงเลิกถือตัว พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ฯลฯ

โกธํ ชเห วิปฺปชเหยฺย มานํ
สญฺโญชนํ สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตนฺนามรูปสฺมึ อสชฺชมานํ
อกิญฺจนํ นานุปตนฺติ ทุกฺขา.

[คำอ่าน]

โก-ทัง, ชะ-เห, วิบ-ปะ-ชะ-ไห-ยะ, มา-นัง
สัน-โย-ชะ-นัง, สับ-พะ-มะ-ติก-กะ-ไม-ยะ
ตัน-นา-มะ-รู-ปัด-สะ-หมิง, อะ-สัด-ชะ-มา-นัง
อะ-กิน-จะ-นัง, นา-นุ-ปะ-ตัน-ติ, ทุก-ขา

[คำแปล]

“บุคคลพึงละความโกรธ พึงเลิกถือตัว พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง (เพราะ) ทุกข์ทั้งหลาย ย่อมไม่ติดตามผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีความกังวลนั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/44.

ความโกรธ เป็นกิเลสที่ทำให้จิตใจกำเริบเร่าร้อน หงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่พอใจ อยากจะทำลายทำร้ายบุคคลผู้ที่ทำให้โกรธ

ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมครอบงำจิตใจของสรรพสัตว์ให้กระทำตามอำนาจของมัน ทำให้ด่าเขาบ้าง ทำให้ทำร้ายเบียดเบียนเขาบ้าง ทำให้ฆ่าเขาบ้าง เรียกได้ว่า ความโกรธนั้นไม่มีดีเอาเสียเลย

แต่กระนั้น ความโกรธก็เป็นเหมือนเพื่อนสนิทของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มันจะอยู่กับเรา อยู่ในใจของเรา รอเวลาแสดงตัวเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่น่าปรารถนามากระทบ และบัญชาให้เราทำตามอำนาจของมัน แล้วแต่มันจะสั่งการให้ทำ

ความถือตัวก็เป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เป็นเหมือนเพื่อนสนิทของสรรพสัตว์ มันจะนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสรรพสัตว์ ทำให้เกิดความสำคัญตนต่าง ๆ นานา สำคัญตนว่าดีกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง แย่กว่าเขาบ้าง ทำให้เกิดความเย่อหยิ่งจองหองลำพองตัว ทำให้ทำกรรมอันชั่วช้าลามกนานาประการได้

ส่วนสังโยชน์นั้น เป็นกิเลสที่ผูกมัดใจสรรพสัตว์ไว้กับทุกข์ในวัฏสงสาร สรรพสัตว์ไม่สามารถสลัดตนให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ก็เพราะสังโยชน์นี้เป็นตัวการ สังโยชน์ มี 10 ประการ คือ

  1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
  2. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
  3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต
  4. กามราคะ ความกำหนัดในกาม
  5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
  6. รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน
  7. อรูปราคะ ความติดในใจอารมณ์แห่งอรูปฌาน
  8. มานะ ความสำคัญตน
  9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
  10. อวิชชา ความไม่รู้จริง

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกละความโกรธ ความถือตัว และสังโยชน์ทั้งหลายเหล่านี้เสียให้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อละได้แล้ว ก็เป็นอันทำลายทุกข์เสียได้ ความทุกข์ทั้งปวงย่อมไม่สามารถติดตามบุคคลผู้ละความโกรธ ความถือตัว และสังโยชน์ได้แล้ว.