ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์ยังท่องเที่ยวไป จึงไม่พ้นจากทุกข์

ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ     จิตฺตมสฺส วิธาวติ
สตฺโต สํสารมาปาทิ     ทุกฺขา น ปริมุจฺจติ.

[คำอ่าน]

ตัน-หา, ชะ-เน-ติ, ปุ-ริ-สัง…..จิด-ตะ-มัด-สะ, วิ-ทา-วะ-ติ
สัด-โต, สัง-สา-ระ-มา-ปา-ทิ…..ทุก-ขา, นะ, ปะ-ริ-มุด-จะ-ติ

[คำแปล]

“ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์ยังท่องเที่ยวไป จึงไม่พ้นจากทุกข์.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/51.

ตัณหา คือ ความทะยานอยาก มี 3 อย่าง คือ

กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม คือความยินดีปรารถนาในกามคุณ 5 อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนาน่าพอใจ

ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ คือ ความอยากมีอยากเป็น รวมไปถึงความอยากเกิดในภพต่าง ๆ ที่ประณีตที่ตนคิดว่าจะเป็นภพที่ดีเลิศ

วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ คือ ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น หรืออยากพ้นจากภาวะบางอย่างที่ตนไม่ปรารถนา เช่น อยากพ้นจากความยากจน เป็นต้น

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นสมุทัย คือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่น

ความอยากในกาม อยากได้สิ่งสวย ๆ งาม ๆ มาครอบครอง อยากได้ยินเสียงที่ไพเราะ อยากดมกลิ่นหอม ๆ อยากกินของอร่อย ๆ อยากได้รับสัมผัสที่เป็นสุข เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็เป็นทุกข์

ความอยากมีอยากเป็น อยากมีเงินมีทองมาก ๆ อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นข้าราชการ เป็นต้น เมื่อไม่มีไม่ได้สมปรารถนา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมา

ความอยากในวิภพ คืออยากพ้นไปจากสภาวะบางอย่างที่ไม่ปรารถนา เช่น ไม่ชอบงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็จำใจต้องทำต่อไป ลาออกไม่ได้ ก็เป็นทุกข์

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้สรรพสัตว์ต้องเกิดอยู่ร่ำไป เปรียบเหมือนยางในเมล็ดผลไม้ ตราบใดที่ในเมล็ดผลไม้นั้นยังมียางอยู่ เมื่อนำไปเพาะ เมล็ดผลไม้นั้นย่อมสามารถงอกขึ้นมาได้ สรรพสัตว์ก็เหมือนกัน ตราบใดที่ยังมีตัณหาอยู่ ย่อมต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอยู่ร่ำไป และไม่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารได้.