กามทั้งหลาย ตระการหวานชื่นใจ ย่อมย่ำยีจิตโดยรูปร่างต่าง ๆ กัน ฯลฯ

กามา หิ จิตฺรา มธุรา มโนรมา
วิรูปรูเปน มเถนฺติ จิตฺตํ
อาทีนวํ กามคุเณสุ ทิสฺวา
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป.

[คำอ่าน]

กา-มา, หิ, จิด-ตรา, มะ-ทุ-รา, มะ-โน-ระ-มา
วิ-รู-ปะ-รู-เป-นะ, มะ-เถน-ติ, จิด-ตัง
อา-ที-นะ-วัง, กา-มะ-คุ-เน-สุ, ทิด-สะ-หวา
เอ-โก, จะ-เร, ขัก-คะ-วิ-สา-นะ-กับ-โป

[คำแปล]

“กามทั้งหลาย ตระการหวานชื่นใจ ย่อมย่ำยีจิตโดยรูปร่างต่าง ๆ กัน บุคคลพึงเห็นโทษในกามคุณแล้วเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/334.

กาม มี 2 อย่าง คือ กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่ และวัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่

กามอันเป็นส่วนของวัตถุกามนั้น หมายเอาสิ่งที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายหลงใหลติดใจอยู่ 5 ประการ เรียกว่า กามคุณ 5 ประกอบด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่น่าพอใจ

กามคุณทั้ง 5 ประการนี้ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ทำให้สัตว์ทั้งหลายหลงใหลติดใจ เสาะแสวงหามาครอบครอง เมื่อได้มาครอบครองสมใจแล้วก็เป็นสุข เมื่อสูญเสียไปก็เป็นทุกข์ หรือเมื่อไม่ได้มาครอบครองก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน

กามคุณทั้ง 5 นี้เอง ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องดิ้นรนขวนขวาย ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาครอบครองดั่งใจต้องการ แม้ว่าจะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหนก็สู้ทนดิ้นรนเพื่อให้ได้มาครอบครอง

กามอีกประเภทหนึ่งคือกิเลสกาม เป็นกิเลสที่ทำให้สัตว์มีความรู้สึกรักใคร่พอใจ มีความทะยานอยาก เพลิดเพลินในกามคุณทั้งหลาย เกิดความเห็นผิดคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะสามารถบรรดาลสุขให้กับตนได้จริง จึงหลงใหลติดอยู่ ไม่สามารถถอนตัวออกได้

กามทั้งสองประการดังกล่าว เป็นสิ่งที่หอมหวนรัญจวนใจ เหมือนอาหารที่มีรสอร่อย ทำให้สัตว์ทั้งหลายหลงใหลติดใจอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน กามเหล่านั้นก็คอยย่ำยีจิตใจของสรรพสัตว์ให้ได้รับทุกข์รับโทษโดยไม่รู้ตัว

พระพุทธเจ้าสองสอนให้เหล่าสาวกพิจารณาให้เห็นโทษของกามคุณทั้งหลาย แล้วหลีกออกจากกามคุณเหล่านั้นเสียให้ได้ โดยการปลีกวิเวกออกจากหมู่คณะ ไม่สุงสิงไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปลีกตัวอยู่ผู้เดียวเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมกระทำที่สุดแห่งทุกข์เสียให้ได้.