ภิกษุรู้โทษอย่างนี้ว่า ตัณหาเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ฯลฯ

เอวมาทีนวํ ญตฺวา     ตณฺหา ทุกฺขสฺส สมฺภวํ
วีตตณฺโห อนาทาโน     สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช.

[คำอ่าน]

เอ-วะ-มา-ที-นะ-วัง, ยัด-ตะ-วา…..ตัน-หา, ทุก-ขัด-สะ, สำ-พะ-วัง
วี-ตะ-ตัน-โห, อะ-นา-ทา-โน..…สะ-โต, พิก-ขุ, ปะ-ริบ-พะ-เช

[คำแปล]

“ภิกษุรู้โทษอย่างนี้ว่า ตัณหาเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์แล้ว พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น มีสติอยู่ทุกอิริยาบถเถิด.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/478, ขุ.จู. 30/320.

ตัณหา คือ ความทะยานอยาก มี 3 อย่าง คือ

กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม คือความยินดีปรารถนาในกามคุณ 5 อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนาน่าพอใจ

ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ คือ ความอยากมีอยากเป็น รวมไปถึงความอยากเกิดในภพต่าง ๆ ที่ประณีตที่ตนคิดว่าจะเป็นภพที่ดีเลิศ

วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ คือ ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น หรืออยากพ้นจากภาวะบางอย่างที่ตนไม่ปรารถนา เช่น อยากพ้นจากความยากจน เป็นต้น

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นสมุทัย คือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่น

ความอยากในกาม อยากได้สิ่งสวย ๆ งาม ๆ มาครอบครอง อยากได้ยินเสียงที่ไพเราะ อยากดมกลิ่นหอม ๆ อยากกินของอร่อย ๆ อยากได้รับสัมผัสที่เป็นสุข เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็เป็นทุกข์

ความอยากมีอยากเป็น อยากมีเงินมีทองมาก ๆ อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นข้าราชการ เป็นต้น เมื่อไม่มีไม่ได้สมปรารถนา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมา

ความอยากในวิภพ คืออยากพ้นไปจากสภาวะบางอย่างที่ไม่ปรารถนา เช่น ไม่ชอบงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็จำใจต้องทำต่อไป ลาออกไม่ได้ ก็เป็นทุกข์

ตราบใดที่ยังมีตัณหาทั้ง 3 ประการนี้อยู่ ก็ไม่มีวันที่เราจะพ้นไปจากความทุกข์ได้ เพราะเราอยู่กับเหตุเกิดแห่งทุกข์ จึงจำเป็นต้องประสบกับความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อรู้แล้วว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราทั้งหลายควรพยายามละความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ฝึกตนให้มีสติสัมปชัญญะในทุกอิริยาบถ หมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอันเป็นเครื่องมือเดียวที่จะกำจัดตัณหาทั้ง 3 ประการนั้นเสียได้
เมื่อทำได้ดังนี้ ย่อมจะสามารถเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์เสียได้ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป.